ร่องรอยที่เหลืออยู่ที่เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช เก่าแก่ยิ่งกว่ายุคพระเจ้าตากหนีมาบวช และมีจิตรกรรมที่น่าสนใจอยู่ในนั้น

ร่องรอยที่เหลืออยู่ที่เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช เก่าแก่ยิ่งกว่ายุคพระเจ้าตากหนีมาบวช และมีจิตรกรรมที่น่าสนใจอยู่ในนั้น

ถ้ำเขาขุนพนม เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นของสายมูเมื่อมายังเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากไปวัดเจดีย์ไอ้ไข่แล้วก็ต้องมาไหว้พระเจ้าตากที่นี่ เพราะเกิดตำนานลือกันว่าเป็นที่ที่ท่านหนีมาบวชอยู่จนนิพพาน (ใช่แล้วนี่คือศูนย์กลางของตำนานการหนีมาบวชที่เมืองนคร) ก่อนจะเชิญศพไปปลงที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วเอาอัฐิประดิษฐานไว้ในเก๋งจีนวัดประดู่ ตำนานที่คนเล่าลือกันในปัจจุบันว่าเช่นนี้ แต่วัดเขาขุนพนมเดิมทีมีตำนานที่เก่ากว่า

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีบันทึกอยู่ในสมุดไทยหลายเล่ม กล่าวว่าในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้สร้างพระบรมธาตุ พระมหาเถรสัจจานุเทพ พระเถระที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกให้ความนับถือได้สร้างวัดพระเดิม (ปัจจุบันคือเขตสังฆาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) แล้วสร้างวัดหว้าทยาน (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) เมื่อขัดเคืองกับพระเจ้าศรีธรรมาโศก มหาเถรท่านได้ออกไปสร้างวัดที่เขาน้อย เมื่อมหาเถรสัจจานุเทพมรณภาพแล้วพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จไปปลงศพท่านที่นั่นแล้วตรัสเรียกอารามที่เขาน้อยว่า เขาน้อยคุมพนม ปัจจุบันเรียกว่าวัดเขาขุนพนม

บนเขาขุนพนมมีวิหารถ้ำ สูงจากพื้นดินราว ๆ 50 – 80 เมตร เกิดจากการก่อผนังขึ้นกั้นเพิงผาที่หันไปทางทิศตะวันออกจนเกิดเป็นห้องเล็ก ๆ กว้างยาวราว 4.5 * 5.5 เมตร เพดานสูงราว ๆ 1.70 ซม. ปัจจุบันเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำพระนอน เพราะมีพระนอนองค์ย่อม ๆ อยู่ภายใน

วิธีการก่อผนังกั้นเพิงผาจนเกิดเป็นวิหารถ้ำนี้เป็นวิธีที่พบทั่วไปในลังกา การที่พบโกลนซุ้มมกรโตรณะด้านหน้าทางเข้านี้ และตัวหินกรอบประตูซุ้มใช้หินแกรนิตแบบเดียวกับที่นิยมในยุคตามพรลิงค์ ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าถ้ำนี้น่าจะสร้างขึ้นโดยคนที่เคยเห็นวิหารถ้ำแบบนี้ในลังกาแล้วพยายามเอารูปแบบกลับมาทำตามที่พอจะจำได้ เพราะปกติแล้วในภาคใต้เรานิยมใช้ถ้ำจริง ๆ ปรับเป็นวิหาร หรือพุทธคูหามากกว่าจะมากั้นห้องให้เกิดถ้ำจำลองขึ้น

เพดานถ้ำพระนอนนี้มีร่องรอยของการฉาบไล้ด้วยปูนขาว และน่าจะเคยเขียนจิตรกรรมจนเต็มที่ทั้งเพดานถ้ำแบบเดียวกับวิหารถ้ำหลายแห่งในศรีลังกา

ปัจจุบันเหลือจิตรกรรมอยู่ขอบผนังทางด้านทิศใต้เท่านั้นคิดเป็นราว ๆ 5 เปอร์เซ็นของพื้นที่ที่น่าจะเคยมีจิตรกรรมทั้งหมด

มีจิตรกรรมที่ยังปรากฏชัดอยู่ 2 จุด คือจุดบริเวณด้านล่างฐานพระนอน เขียนภาพคนนั่งกระโหย่งไหว้ คนตรงกลางเขียนนั่งหันหลังซึ่งเหลือให้เห็นไม่มากในงานจิตรกรรมไทย ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดปราสาท วัดเกาะเมืองเพชร ฯ

อีกจุดหนึ่งอยู่ถัดลึกเข้าไปในถ้ำเขียนเป็นนาค 7 ศีรษะ

จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่นี้น่าจะเป็นรุ่นอยุธยาผมคิดว่าอาจจะอยู่ในราว ๆ พศว.21 – 22 ต้น ๆ อาจจะก่อนหน้านี้แต่ไม่หลังจากนี้ หรือจิตรกรรมที่เพดานซึ่งเขียนรูปนาคอาจจะเก่ากว่าจิตรกรรมรูปคนนั่งกระโหย่งไหว้เพราะการใช้เส้นคนละแบบ จริงอยากจะเสนอว่าจิตรกรรส่วนบนเพดานอาจจะเก่าถึงยุคศรีธรรมาโศกราชก็ได้แต่ก็ยังยากจะพูดตอนนี้

การเป็นวิหารถ้ำที่เคยมีจิตรกรรมเต็มตลอดทั้งเพดาน และจากร่องรอยที่เหลืออยู่ก็แสดงถึงฝีมือการเขียนในระดับสูง แสดงถึงความสำคัญของถ้ำและวัดเขาขุนพนมแห่งนี้ที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เมืองนครมาตั้งแต่ยุคตำนาน ที่จริงแล้วตำนานพระบรมธาตุ และตำนานพระธาตุเมืองนครกล่าวถึงวัดสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกอยู่ไม่กี่วัด

ได้แก่พระธาตุ พระเดิม หว้าทยาน ท่าช้าง เสมาทอง เวียงสระ และวัดเขาขุนพนม นอกจากพระธาตุซึ่งอยู่กลางสันทรายแก้วแล้ว มีเพียงวัดเขาขุนพนมที่คงสภาพและปรากฏวัตถุสถานเหลืออยู่ ที่เหลือนั้นได้อันตรธานและสิ้นสภาพไปแล้ว วัดเวียงสระก็เหลือร่องรอยของเก่าไม่มากนัก

ทุกวันนี้ไปเขาขุนพนมทุกคนคิดถึงแต่เรื่องพระเจ้าตาก ซึ่งที่มาที่ไปซับซ้อนและคลุมเครือ น้อยคนจะรู้ว่ามันมีสิ่งที่มีมาเก่าก่อนและมีความสำคัญมาก ๆ พำนักอยู่ด้วยอย่างเงียบเชียบ

ปัจจุบันถ้ำพระนอนไม่สามารถเข้าไปด้านในได้แต่สามารถส่องไฟสองกล้องผ่านประตูเหล็กดัดเข้าไปได้ ภาพจิตรกรรมสองภาพนี้คิดอย่างได้รับอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ที่นับถือกันมานาน ถ่ายมานานหลายปีตั้งแต่สมัยยังเข้าไปในด้านในได้ ถ้าได้สำรวจโดยละเอียด อาจพบจิตรกรรมเหลืออยู่มากกว่าเพียง 2 จุดนี้ก็ได้ครับ

รวมบทความอาคารที่เกือบจะได้เห็น สถาปัตยกรรมที่ไม่ถูกสร้างในกรุงเทพฯ

รวมบทความอาคารที่เกือบจะได้เห็น สถาปัตยกรรมที่ไม่ถูกสร้างในกรุงเทพฯ

รวมบทความอาคารที่เกือบจะได้เห็น สถาปัตยกรรมที่ไม่ถูกสร้างในกรุงเทพฯ เผยแพร่ครั้งแรกในคิดอย่าง ดูโพสต์ต้นฉบับที่นี่

ก่อนจะกลายมาเป็นบรมบรรพต : เกือบจะเป็นปรางค์สูงที่สุดในสยาม

โครงการโรงภาษีใหม่ (New Custom house)

หัวลำโพงที่ไม่ทันได้เห็น

สถานีรถไฟหลวงสายใต้ที่ไม่ได้สร้าง

ประตูแห่งราชันที่ไม่ได้สร้าง กับประตูที่กำลังสร้างหน้าราชานุสาวรีย์ : ชวนส่องสถาปัตยกรรมครั้งบ้านเมืองยัง (รสนิยม) ดี

สถาปัตยกรรม์ยุติธรรม์สถิต : เมื่อระเบียบ และความโกลาหลแสดงตนผ่านงานสถาปัตยกรรม กรณีศึกษากลุ่มอาคารศาลฎีกา

วัดจำปา ตำบลทุ่ง เมืองไชยา : กับสารพัดเรื่องราวที่สืบทอดผ่านกาลเวลา

วัดจำปา ตำบลทุ่ง เมืองไชยา : กับสารพัดเรื่องราวที่สืบทอดผ่านกาลเวลา

“เมียของเอ็งพอจะเข้าวัดจำปาได้ไหม”

ผู้เฒ่าถามถึงหญิงสาวที่ชายหนุ่มจะตกแต่งเป็นภรรยา ไม่ได้หมายความว่าหน้าตาต้องสะสวยวิเศษ แต่กิริยามารยาทเมื่อเข้าสังคมก็ต้องงาม และโดยเฉพาะวัดจำปาที่เมื่อมีงานบุญก็เป็นที่ประชุมชนมาก หญิงสาวนั้นจะวางตัวได้เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่

นี่เป็นเรื่องเล่าเก่า ๆ ที่ทุกวันนี้ยังมีพูดถึงกันในพื้นที่ตำบลทุ่ง อำเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ตั้งของวัดจำปา ตำบลทุ่งหมายความตามชื่อว่าเป็นทุ่ง คือเป็นทุ่งใหญ่ทุ่งย่อมทำนาเลี้ยงเมืองไชยามาแต่โบราณ ชาวตำบลทุ่งแต่ดั้งแต่เดิมนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินยิ่งกว่าชุมชนอื่น ๆ ในละแวก เพราะต่างมีนาบ้านละไม่น้อย ข้าวปลาอาหารไม่เคยขาด วัดจำปาที่ตั้งมั่นผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน มีประจักษ์พยานคงเหลือเป็นวิหารอยุธยาตอนปลายหลังใหญ่พร้อมหน้าบันแกะสลักฝีมือเยี่ยม มีจารึกระบุถึงขอบเขตที่กัลปนาของวัดก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาเพียงไม่กี่ปี ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญของชาวตำบลทุ่งผู้มีฐานะ งานบุญใด ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดนี้จึงไม่ใช่งานธรรมดา ถ้าใครมาทำขายหน้าในวัดคนคงเอาไปพูดกันปากต่อปากไม่จบสิ้น

หลายปีก่อนคิดอย่างทำงานภาคสนามในเขตอำเภอไชยา ได้ รับฟังความทรงจำถึงวัดจำปาที่ยังตกค้างอยู่จาง ๆ จากคำบอกเล่าของมิตรสหายชาวตำบลทุ่งมาบ้าง เมื่ออาทิตย์ก่อนแอดมินฝ่ายศิลปะและการเมือง นึกสนุกอยากจะเอาประเด็นวัดจำปามาพัฒนาเป็นคอนเทนต์ ต่อไปในโพสต์นี้จะชวนชาวคิดอย่างไปรู้จักวัดจำปาในหลาย ๆ แง่มุมจากข้อมูลที่ได้เก็บเล็กผสมน้อยเอาไว้ครับ

เรื่องของวัด และระบบที่กัลปนา

วัดจำปาตั้งอยู่บนสันดอนเล็ก ๆ ในพื้นที่ตำบลทุ่งเมืองไชยา สันฐานของพื้นที่นั้นโดยมากเป็นที่ลุ่มอันเรียกว่าทุ่ง มีทุ่งสำคัญคือทุ่งนารายอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทุ่งวัดนอกอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทุ่งเป็นที่ทำนาเพาะปลูก แต่ครั้นพอหน้าน้ำ น้ำจากคลองตะเคียนก็จะเจิ่งนองเข้าเต็มทุ่ง บ้านเรือนของชาวตำบลทุ่งกระจายตัวอยู่บนสันดอนเล็ก ๆ ที่สูงพ้นระดับน้ำหลาก วัดวาอารามนั้นจะเลือกตั้งบนสันดอนที่ใหญ่กว่า หรือมีการถมขยายขนาดสันดอนให้เพียงพอสำหรับกิจกรรมนานาในรอบปี ชื่อของวัดจำปามีที่มาจากอะไร และจริง ๆ แล้ววัดตั้งขึ้นเมื่อไหร่แน่นั้นยังไม่แน่ชัด มีการเสนอกันว่าชื่อวัดจำปาอาจมาจากชาวจามปา และวัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย

อย่างไรก็ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏหลงเหลืออยู่นั้นบ่งชี้ว่าวัดนี้รุ่งเรืองมากในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา (พ.ศ.2250 – ปัจจุบัน) ร่องรอยที่ปรากฏตกค้างอยู่ตามวัดร้าง ๆ รอบ ๆ วัดจำปา อาทิกลุ่มพระพุทธรูปบนฐานชุกชีที่วัดสากเหล็ก ร่องรอยทางโบราณคดีที่พบที่วัดนางชี วัดมาน วัดแปบ นั้นบ่งชี้ความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่อย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เช่นกัน อย่างไรก็ตามรายงานการค้นพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนไม่น้อยที่เก่าย้อนไปถึงพุทธศตวรรษที่ 16 – 19 หรือบรรดาเทวรูปขนาดเล็กสมัยศรีวิชัยซึ่งอยู่ในความครอบครองของเอกชนโดยไม่เปิดเผยพบในพื้นที่ละแวกตำบลทุ่ง และใกล้กับตัวเมืองไชยา ก็อาจเป็นหลักฐานที่ใช้อธิบายการตั้งถิ่นฐานและกิจกรรมในพื้นที่ตำบลทุ่งย้อนไปได้นับพันปี ทว่าเป็นการยากที่จะลำดับการสืบเนื่องของกิจกรรมผ่านหลักฐานที่ค่อนข้างกระจัดกระจายนี้

แม้ย้อนไปในปี พ.ศ. 2488 เมื่อพระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล เจ้าอาวาส ณ ขณะนั้นจัดทำข้อมูลประวัติวัดจำปา ท่านทำได้เพียงอธิบายว่าวัดนี้เป็นวัดเก่า มีประวัติย้อนไปได้ประมาณ 200 ปี (ณ ขณะที่เขียน) อีกทั้งที่มาของชื่อวัดนั้นก็ไม่อาจระบุได้ชัดเจน งานศิลปกรรมซึ่งตกทอดมาในวัดเป็นเครื่องกำหนดอายุอย่างคร่าว ๆ และถูกใช้กันแพร่หลาย งานศิลปกรรมเหล่านี้ได้แก่ 1.วิหารไม้ทรงโรงสมัยอยุธยามีหน้าบัน และบานประตูแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง 2.ชิ้นส่วนของบานประตูโบสถ์เก่า (ซึ่งชำรุดรื้อถอนไปแล้วและถูกสร้างใหม่แทนที่โดยการออกแบบของกำนันล้ำ ศักดิ์ดา ช่างท้องถิ่นผู้มากฝีมือ) 3.ซุ้มประตูหน้าราหูของวัด งานศิลปกรรมเหล่านี้ล้วนกำหนดอายุอยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 23 แม้วัดจำปาจะดำรงมาก่อนหน้า แต่กิจกรรมการทำนุบำรุงวัดที่ก่อให้เกิดงานศิลปกรรมเหล่านี้คงเปลี่ยนภูมิทัศน์ของวัดไปมากจนเราจิตนาการถึงวัดจำปาในยุคสมัยที่เก่าลงไปกว่านี้ได้ค่อนข้างยาก

จารึกวัดจำปาที่พบบริเวณคูน้ำข้างวัด กล่าวถึงบุญกิริยาของทายก 2 ท่าน ทายิกา 1 ท่าน ในปีพ.ศ.2309 ได้แก่การถวายข้าทาส และที่นากัลปนาแก่วัดจำปา พร้อมระบุกฏเกณฑ์แก่ผู้จะทำประโยชน์ในที่นาแปลงนี้ว่าจะต้องจัดสำรับ 11 ชั้นมาถวายแก่วัดจำปาทุก ๆ ปีตามวันเวลาที่คงมีการตกลงกันไว้

ขอบเขตของนากัลปนาที่ระบุไว้ในจารึกนั้นตามสำรวจได้ยาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และระบบนากัลปนาของวัดนั้นได้สูญสภาพไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากที่กัลปนานั้นแต่โบราณไม่ได้ถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งเอกชนจะครอบครองไม่ได้ แต่เป็นที่ซึ่งกำหนดเพียงว่าให้ผลประโยชน์ของการทำกินในที่นั้นต้องตกแก่วัด ในราวรัชกาลที่ 5-6 เมื่อมีการจัดระบบเงินบำรุงวัดโดยกระทรวงธรรมการ และเพิกถอนสิทธิพระกัลปนาเดิมซึ่งถูกมองว่าซ้ำซ้อนและไม่เป็นระบบระเบียบ นากัลปนาส่วนใหญ่จึงตกแก่ผู้ทำประโยชน์ในนาเหล่านั้น ณ ขณะนั้น จากความทรงจำของพระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล วัดจำปาเคยมีนาเรียกว่า

  • นาสำรับ ที่ผู้เข้าไปทำประโยชน์ต้องจัดสำรับส่งวัดจริง เป็นไปได้ว่าอาจคือที่นาเดียวกับที่ปรากฏในจารึกเมื่อปี พ.ศ.2309 นี้เอง อีกทั้งยังมีนาดาด นาถ้วย และนาขุดทราย

ลักษณะของที่นากัลปนาเมืองไชยามีการจัดสรรผลประโยชน์จากการเข้าใช้ที่นากัลปนาของวัดเพิ่มเติมไปจากผลิตผลเช่นข้าว หรือเงินบำรุงวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ มีการระบุหน้าที่ที่ผู้เข้าใช้ที่กัลปนาจะต้องกระทำต่อวัดด้วยตามแปลงนานั้น ๆ

  • นาดาด คือนากระดาษ ผู้ทำนาในแปลงนี้จะต้องจัดหากระดาษส่งมาให้วัด ซึ่งจะได้ใช้งานประดับตกแต่งชั่วคราวเช่นตกแต่งเรือพระ
  • นาถ้วย จะต้องจัดหาถ้วยชามส่งให้วัด
  • นาขุดทราย เดิมในพื้นที่นาเป็นสันดอนทราย ผู้เข้าใช้จะต้องขุดทรายเข้าวัดทุก ๆ ปี

วัดพระบรมธาตุไชยา มีนากัลปนาแปลงหนึ่งเรียกว่า

  • นาพด พดคือเปลือกมะพร้าว ผู้ที่ทำนาแปลงนี้ทุกปีต้องเตรียมใยจากเปลือกมะพร้าวมาขวั้นเป็นเชือก เรียกเชือกพด สำหรับฉุดชักเรือพระออกแห่แหน เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำเชือกจากพดอีกแล้ว แต่พื้นที่ที่เรียกว่า ดอนพด ยังมีอยู่

ที่วัดหัววังน้ำรอบ อำเภอพุนพิน ปรากฏจารึกเรื่องนากัลปนา 2 แปลง ได้แก่ นาประชุมดอกไม้ ผู้ทำนาต้องจัดหาดอกไม้เตรียมเอาไว้สำหรับประดับเรือพระในช่วงลากพระ และ นาข้าวเปียก ผู้ทำนาต้องเตรียมกาวแป้งเปียกสำหรับใช้ติดกระดาษประดับเรือพระ นากัลปนาทั้งหมดนี้ หากซักไซ้คนอาวุโสหน่อย ยังพอได้ความกระท่อนกระแท่นมาประติดประต่อกัน แต่การตามสำรวจขอบเขตเพื่อทำผังเป็นองค์ความรู้นั้นอาจต้องใช้ความอุตสาหะอีกมาก

รุ่งเรืองในยุคการปกครองของเจ้าเมืองสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แห่งสงขลา

หลังเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงถูกอยุธยาพิชิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ชาวสงขลาจากนครที่ถูกพิชิตนำโดยผู้นำในสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์บางส่วนถูกเทครัวให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทุ่งโฉลก ปัจจุบันอยู่ในอำเภอท่าฉาง ครั้งพอตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง ผู้นำของชาวสงขลาพลัดถิ่นขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไชยา ย้ายชุมชนจากทุ่งโฉลกมาตั้งชุมชนใหม่ยังพื้นที่ที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านสงขลา อยู่ระหว่างเมืองไชยาที่บ้านเวียง กับพื้นที่ตำบลทุ่ง นับแต่นั้นมาจนเสียกรุงศรีอยุธยา เมืองไชยาจะถูกปกครองโดยเจ้าเมืองมุสลิมสืบต่อกัน 3 ท่าน ภายใต้ยุคสมัยของเจ้าเมืองมุสลิมนี้คือยุคที่บรรดางานศิลปกรรมอันงดงามของวัดจำปา วัดซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางการปกครองของเจ้าเมืองมุสลิมเพียงกิโลเมตรเศษได้ถูกบรรจงสร้างขึ้น

เราไม่มีหลักฐานว่าชาวพุทธที่อยู่มาก่อน และชาวมุสลิมจากสงขลาซึ่งเข้ามาใหม่ในฐานะผู้ปกครองนั้นมีปฎิสัมพันธ์กันอย่างไรในช่วงเริ่มต้น ตำนานเมืองไชยาระบุว่าการที่เจ้าเมืองเลือกตั้งชุมชนใหม่ขึ้นที่บ้านสงขลาก็เพื่อเลี่ยงพื้นที่บ้านเวียงที่เป็นชุมชนชาวพุทธดั้งเดิม เราอาจมองว่านี่เป็นความพยายามประนีประนอม เพราะศูนย์กลางของบ้านเวียงคือวัดเวียง และในละแวกนั้นล้วนเป็นกลุ่มวัดที่ตั้งทับซ้อนกับพุทธสถานสมัยศรีวิชัย

ในทางปกครอง เจ้าเมืองมุสลิมคงสามารถสมานฉันกับกลุ่มขุนนางท้องถิ่นชาวพุทธเดิมได้เพราะการตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการของชุมชนต่าง ๆ ในเมืองไชยาดูจะไม่ได้หยุดชะงักลง แต่ก็อาจมีการแต่งตั้งขุนนางจากชาวมุสลิมให้ดูแลในภาพรวมด้วย เราพบร่องรอยของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนพุทธดั้งเดิม กับชาวมุสลิมสงขลาพลัดถิ่นตกค้างอยู่ผ่านตำนานการสร้างพระบรมธาตุไชยา ซึ่งระบุว่าผู้สร้างคือปะหมอและปะหมัน ที่ริมทางรถไฟทางเหนือของตลาดไชยามีสันดอนเล็ก ๆ เรียกกันว่าดอนพัดหมัน เชื่อกันว่าเป็นสุสานของปะหมันผู้สร้างพระบรมธาตุไชยา พื้นที่นี้เป็นสันดอนศักดิ์สิทธิ์ที่มีการบวงสรวงทุกปี แต่รู้กันทั่วไปว่าหมูเป็นของต้องห้าม และเจ้าที่ประจำดอนนี้เป็น “แขก”

จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม เราพบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นประเภทเจ้าที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าที่ “แขก” กระจายอยู่หลายแห่งในละแวกเมืองไชยา “แม่ยายบ้านโพธิ์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสถิตอยู่ในรูปของปราสาทจำลองสลักด้วยหินทรายแดงตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดพระบรมธาตุไชยานั้น เป็นเจ้าที่แขกที่สถิตย์อยู่ในวัตถุที่รูปลักษณะดูเหมือนเป็นวัตถุในศาสนาพุทธ รู้กันทั่วไปว่าพื้นที่โดยรอบแม่ยายบ้านโพธิ์นั้นไม่อาจเลี้ยงหมูได้ หมูจะล้มตาย และการเซ่นสรวงแม่ยายบ้านโพธิ์ทุก ๆ ครั้งนั้น หมูเป็นของต้องห้าม

นี่อาจเป็นร่องรอยที่ตกค้างมาจากการอยู่ร่วมกันของสองวัฒนธรรม เจ้าที่แขกเหล่านี้เดิมอาจคือขุนนางมุสลิมสงขลาพลัดถิ่นที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลชุมชนใต้ปกครองซึ่งรวมถึงชาวพุทธดั้งเดิม การยอมรับเอาความเป็นมุสลิมที่เข้ามาใหม่ให้รวมอยู่ในระบบความเชื่อพุทธ-ผี นั้นดูจะสะท้อนความประณีประนอม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งนี้ตำนานเมืองไชยายังให้ข้อมูลกับเราว่าพระยาวิชิตภักดี (บุญชู) เจ้าเมืองไชยาคนแรกสมัยธนบุรี และเป็นชาวพุทธนั้น เป็นบุตรของมหระหุ่มมุดาเจ้าเมืองไชยาคนสุดท้ายสมัยอยุธยากับภรรยาชาวพุทธ การแต่งงานข้ามขนบธรรมเนียมความเชื่อนั้นคงเกิดขึ้นเป็นปรกติมาตั้งแต่แรก ซ้ำการที่พระยาวิชิตภักดี (บุญชู) ไม่ได้เปลี่ยนเป็นมุสลิมตามบิดาตั้งแต่แรกเกิด อาจสะท้อนความเป็นอยู่อย่างผ่อนปรนต่อหลักศาสนาบางประการที่เกิดขึ้นในเมืองไชยาสมัยอยุธยาตอนปลาย

วัดจำปา ได้รับการทำนุบำรุงอย่างดีในห้วงเวลานี้ ประกอบกับจารึกวัดจำปาในปี พ.ศ.2309 ระบุถึงมหาจันทง เจ้าปุญจน และอำแดงเพชรทอง ในท่วงทำนองของคหบดีผู้มีศรัทธาบริจาคข้าทาสและที่นา ดูเหมือนว่าในหมู่ชุมชนชาวพุทธเมืองไชยานั้นยังคงมีผู้ฐานะดี และชาวพุทธมีกำลังในการทำนุบำรุงวัดในฐานะศูนย์กลางชุมชนอย่างเข้มแข็งเป็นปรกติในยุคที่แม้เจ้าเมืองจะเป็นมุสลิมก็ตาม

วิหารหลวง วัดจำปา

วิหารไม้ทรงโรงขนาด 7 ห้องเสา มีมุขประเจิดทั้งสองด้าน ที่เสา สาหร่ายรวงผึ้ง และหน้าบันมุขประดับด้วยงานไม้แกะสลักอย่างเอก กล่าวกันว่าผู้สลักนั้นคือ “เณรช่างเขียน” สามเณรผู้ชื่นชอบการขีดเขียนมาแต่เล็ก ตัววิหารนับเป็นอาคารที่เก่าที่สุดที่ของวัด (เนื่องจากตัวอุโบสถสมัยอยุธยานั้นได้ชำรุดไปก่อน ผู้ที่ไปเยือนวัดจำปาจะเห็นว่าวิหารถูกปรับใช้เป็นอุโบสถอยู่ในปัจจุบัน)

วิหารนี้เรียกกันมาแต่เดิมว่า “วิหารหลวง” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์พรรณนาถึงวิหารหลวงของวัดจำปาที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นในปี พ.ศ.2445 ไว้ดังนี้

“…หลังโบสถ์มีวิหารหลังหนึ่ง ก่อเพิงฐานเหนือขึ้นไปเป็นเสาไม้สี่แถว หลังคาเครื่องประดุมุงกระเบื้องกูบ (คือกระเบื้องกาบกล้วย) มีพาไลสองชั้น มีมุขศาลาลูกขุน (คือมุขประเจิด) ฝาลูกกรงทำด้วยไม้ หมดทั้งหลังทรงงามที่สุดเปนวิหารไม้แท้ ตัวลำยองแปลกไม่เคยเห็น เปนตัวรวยแต่มีขอ… ลายหน้าบรรพ์แขงเต็มที กนกบากทั้งอันแกมภาพ บานประตูหน้าวิหารนั้นแปลก บานขวาเปนยักษ์ยืนแท่นถือกระบอง มีนาค 7 เศียรปกหัวงูอยู่ใต้ขา บานซ้ายเปนพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณถือพระขรรค์สองมือ..” (ทำวงเล็บโดยผู้เขียน)

นี่เป็นบันทึกเก่าที่สุดที่ให้ข้อมูลลักษณะของวิหารหลวงวัดจำปา ซึ่งแต่เดิมมักอธิบายกันว่าเป็นวิหารโถง ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นโถงซะทีเดียว แต่มีผนังเป็นลูกกรงไม้กั้น เมื่อมีผนังจึงเป็นคำตอบว่าทำไมวิหารจึงมีประตู เพราะหากมีประตูแล้วเป็นวิหารโถง การมีประตูอยู่นั้นก็ค่อนข้างแปลกทีเดียว ลักษณะของวิหารฝาลูกกรงนี้ไม่ค่อยพบในแถบอ่าวบ้านดอน หรือทางนครศรีธรรมราช แต่พบในลุ่มทะเลสาบสงขลาอยู่บ้าง เช่นที่โบสถ์เขาตก วัดชะแล้ หรือบรรดาศาลาทั้งหลายในวัดท้ายยอ จังหวัดสงขลา

โดยลักษณะของฝา (หรือผนัง) ลูกกรงนี้ มักจะแบ่งฝาเป็นสองตอน คือตีนฝา เป็นระยะตั้งแต่พื้นวิหารสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร เป็นระยะพอดีระดับสายตาของผู้ที่นั่งเรียบกับพื้นวิหาร ตีนฝาส่วนนี้มักจะตีทึบ หรือเป็นลูกกรงถี่ ๆ ครั้งสูงขึ้นไปลูกกรงจะโปร่งขึ้น การทำเช่นนี้คงเพื่อให้เกิดขึ้นที่ปิดล้อมที่ความวุ่นวายภายนอกไม่รุกรานเข้ามามากนัก และอาศัยความโปร่งของฝาด้านบนช่วยระบายความอับชื้นตามลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้

พระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล เจ้าอาวาสวัดจำปา ได้บรรยายลักษณะของวิหารหลวงที่ปรากฏในปี พ.ศ.2488 ไว้ว่า

“…เสาของวิหารนี้ทำด้วยไม้ ตอนปลายเสามีแกะลวดลายสลักไว้อย่างวิจิตร์ (เฉพาะเสาที่โผล่ให้เห็นปลายจากพายนอก ด้านละ 2 ต้น ตะวันออก – ตะวันตก) กระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาเป็นกระเบื้องสีแดงทำด้วยดินเหนียว เป็นรูปคล้ายกับรางน้ำ หงายไว้เป็นคู่ ๆ และมีอันหนึ่งเป็นรูปคล้ายกันอีก ตอนปลายเป็นเทพนมและดอกไม้ วางครอบสลับกันลงบนกระเบื้องคู่ที่หงายไว้ ที่หน้าจั่วมีแกะสลักเป็นลวดลายเครือเถาด้วยไม้ ตอนสุดยอดเป็นเทพนม เช่นนี้ทั้งสองจั่ว

วิหารนี้มีกำแพงรอบ ทางเข้าประตูมีราชสีห์ และเสือข้างละตัวเฉพาะที่ด้านหน้า (ทิศตวันออก) ๒มีนนทรีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายยืนถือตะบองอยู่ ระหว่างกลางมีประตู บานประตูก็แกะสลักด้วยไม้อย่างวิจิตรพิสดาร แต่เวลานี้ชำรุดหมด บานประตูทั้งสองกรมศิลปากรได้เอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ พร้อมด้วยหน้าราหูซึ่งอยู่ที่ประตูด้านหน้าของวัด ทางทิศตะวันตกของวิหารมีเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ สร้างไว้อย่างสวยงามมาก แต่เวลานี้ชำรุดหักพังหมดแล้ว…”

เอกสารชิ้นนี้ให้รายละเอียดต่อมาจากจดหมายเหตุของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์สองสามประการคือ กล่าวถึงรูปราชสีห์ และเสือที่บันไดทางขึ้นวิหาร และกล่าวถึงยักษ์ปูนปั้นขนาบข้างประตูวิหารว่า “นนทรี” คำเรียกนี้ยังตกค้างอยู่ในความทรงจำของชาววัดปัจจุบัน

นนทรีเป็นยักษ์เฝ้าประตู อาจมีที่มาจากนนทกก็ได้ การสร้างรูปยักษ์เฝ้าทางเข้า และเรียกว่านนทรีนั้นเป็นขนบอยุธยาที่ตกค้างอยู่ในวรรณกรรมเก่าหลายชิ้น ยักษ์ที่เรียกกันว่าท้าวทศรถราช ท้าวทศรถเทพราช เฝ้าบันไดทางขึ้นลานประทักษิณองค์พระบรมธาตุเมืองนครนั้นก็เคยถูกเรียกอย่างลำลองว่านนทรี และนนทยักษ์

ณ ขณะที่เอกสารชิ้นนี้ถูกเขียนนั้นปรากฏว่าบานประตูของวิหารหลวงที่กรมพระยานริศฯ ทรงระบุถึงในปี พ.ศ.2445 ได้ถูกนำไปยังกรุงเทพฯแล้ว ซึ่งจะได้เขียนถึงในลำดับถัดไป เอกสารของพระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล ยังให้ข้อมูลน่าสนุกเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์หนึ่งในวิหาร ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าเป็นองค์ใดว่า

“..เล่ากันมาว่าในวิหารหลวงมีพระพุทธรูปที่เป็นโลหะบรรจุปรอท เด็ก ๆ เข้าในวิหารนี้ครั้งละกี่คนก็ตามจะต้องสูญเสีย 1 คนเสมอ ถือกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้กินเสีย ถ้าเป็นคนใหญ่ ๆ ไม่สูญ น่าจะเป็นการหลอกเด็กไม่ให้เข้าเที่ยวเล่นก็เป็นได้ แต่เขายืนยันว่าเคยสูญจริง”

ความเชื่อเรื่องพระพุทธรูปกินเด็กนั้นดูจะเป็นของแพร่หลายไปทั่วทีเดียว กรณีของพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอนนั้นเท่าที่ผู้เขียนทราบ พระพุทธรูปศิลาทรายแดงใหญ่ในเจติยมณฑปวัดพระบรมธาตุไชยา และพระพุทธรูปใหญ่ของวัดมหาถูปาราม ท่าชนะ ซึ่งสร้างโดยทหารผ่านศึกไทรบุรีสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ล้วนเชื่อกันว่ากินเด็กเช่นเดียวกัน

วิหารหลวงวัดจำปานี้ ถูกใช้เป็นกรณีศึกษาของวิหารไม้สมัยอยุธยาที่สำคัญชิ้นหนึ่ง เนื่องจากเป็นวิหารเครื่องไม้ตลอดเสาจนเครื่องบน โครงสร้างหลังคาเป็นระบบเครื่องประดุ มุงกระเบื้องกาบู มีหน้าบันแกะสลักฝีมืออย่างช่างอยุธยาในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 23 อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจรังวัดของผู้เขียน พบว่าแม้โดยทั่วไปวิหารหลวงนี้อาจกล่าวได้ว่ามีคุณลักษณะสมบูรณ์อย่างที่วิหารอยุธยาตอนปลายแท้ควรจะเป็น ทว่าโครงสร้างหลังคคาของวิหารซึ่งเรียกกันว่าระบบเครื่องประดุนั้น แตกต่างออกไปจากระบบเครื่องประดุที่พบในอาคารสมัยอยุธยาที่หลงเหลือมาทั่วไป กล่าวคือตัวโครงสร้างไม่ได้มีการบากขื่อ และแปเพื่อวางแปโดยให้ระดับหลังแปนั้นเสมอระดับขื่อเอกขื่อโท แต่แปนั้นปากลงมาในขื่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในภาพถ่ายเก่าช่วงปี พ.ศ.2490 – 2520 ด้วย ดังนั้นจึงไม่ได้เกิดจากการซ่อมแซมที่ผิดพลาดอย่างน้อยในยุคสมัยอันใกล้ ระบบเครื่องประดุที่แปฝังลงมาในขื่อเอกขื่อโทเพียงเล็กน้อยนี้ยังพบตัวอย่างอีกที่โบสถ์เก่าของวัดถนนสุวรรณประดิษฐ์ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นอุโบสถโครงสร้างเครื่องประดุสมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน กรณีของวัดถนนสุวรรณประดิษฐ์ แปนั้นบากลงมาในขื่อน้อยยิ่งกว่าของวัดจำปา จนดูเหมือนแปนั้นตั้งอยู่เสมอหลังขื่ออยู่โดด ๆ เนื่องจากทั้งวัดจำปา และวัดถนนสุวรรณประดิษฐ์นั้นอยู่ในบริบททางภูมิศาสตร์เดียวกันคือพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอน หากใช้ทะเลเป็นทางสัญจรนั้นนับว่าไม่ไกล และตัดขาดจากกันนัก ประกอบกับจากการศึกษาระบบโครงสร้างเครื่องประดุที่พบในเมืองนครศรีธรรมราช พบว่าระดับของหลังแปนั้นเสมอกับหลังขื่อเอกขื่อโทเป็นปรกติเช่นเดียวกับระบบที่เจอในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนั้นระบบแปที่บากลงไปในขื่อเพียงเล็กน้อยนี้อาจเป็นระบบร่วมที่ใช้กันอยู่ในพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอนสมัยอยุธยาตอนปลาย มูลเหตุที่เกิดขึ้นยังคาดเดาได้ยาก เป็นไปได้ว่าผู้ที่ทำเครื่องบนของวิหารนั้นไม่ได้ผ่านการทำระบบเครื่องประดุมาก่อน หรือเล็งเห็นว่ากำลังของไม้ที่ใช้ ซึ่งคงใช้ไม้จากป่าในเขตรอบอ่าวบ้านดอน นั้นอาจไม่มีกำลังเพียงพอจะรับน้ำหนักได้เมื่อต้องบากชิ้นส่วนให้หลังแปเสมอกับหลังขื่อ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ประเด็นที่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นคือ แม้วิหารหลังนี้จะถูกอธิบายว่าเป็นวิหารสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามสมบูรณ์พร้อม แต่ก็มีคุณลักษณะเฉพาะตัวบางประการที่ไม่เหมือนกับที่อื่น

การเดินทางของงานศิลปกรรมสำคัญสามชิ้นของวัดจำปาไปยังกรุงเทพมหานคร

มีงานศิลปกรรมสำคัญของวัดจำปา 3 ชิ้น ได้แก่ 1.บานประตูของวิหารหลวง 2.ชิ้นส่วนยักษ์ทวารบาลจากบานประตูของอุโบสถหลังเก่า 3.ชิ้นส่วนซุ้มประตูหน้าราหูของวัดได้ถูกนำไปเก็บรักษายังส่วนกลาง สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงระบุถึงงานศิลปกรรมเหล่านี้เอาไว้ในปี พ.ศ.2445 ทรงสเก็ตภาพบางส่วนไว้

ต่อมา Suzanne Karpelès เจ้าหน้าที่ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศได้มายังวัดจำปาในปี พ.ศ. 2467 ได้บันทึกสภาพของวัดจำปา และชิ้นส่วนงานไม้แกะสลักเอาไว้ น่าจะเป็นภาพชุดที่เก่าที่สุดของวัดจำปา และงานศิลปกรรมทั้ง 3 ชิ้นขณะยังอยู่ที่วัดที่มีการเผยแพร่กันในปัจจุบัน

ต่อมา วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2473 ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ (บรรดาศักดิ์ ณ ขณะนั้น) เดิรทางมาตรวจสอบโบราณวัตถุสถานที่วัดจำปา ได้บันทึกถึงศิลปวัตถุของวัดไว้ว่า

“…พบบานประตูคู่ 1 ทำด้วยไม้เคี่ยมหนาคืบกว่า ฝีมืองามดี บานหนึ่งสลักเป็นรุปยักษ์ยืนถือกระบอง ข้างบนมีนาคปรก 5 เศียร อีกบานหนึ่งสลักเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนเหยียบบนช้าง 3 เศียร ข้างบนสลักเป็นลายก้านขด นอกจากนี้ยังได้พบรูปยักษ์สลักอีกรูป 1 ชำรุดเหลือแต่ตัวจะเปนบานประตูหรือสำหรับติดกับอะไรทราบเกล้าไม่ได้ และรูปราหูสลักแผ่น 1 กับไม้สลักด้าน 1 เปนรูปอกเลา อีกด้าน 1 เปนรูปลายประจำยาม บนประตูและเครื่องไม้สลักลายเหล่านี้ทิ้งให้ปลวกขึ้นอยู่ในซอกข้างหลังพระประธานในโบสถ์โถง…”

โดยลักษณาการที่พบดังกล่าวขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ได้เอาชิ้นส่วนไม้แกะสลักตามรายการนั้นมาไว้ยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยเจ้าอาวาสในขณะนั้นไม่ขัดข้อง งานศิลปกรรมของวัดจำปาชุดดังกล่าว กรมการเมืองสุราษฎร์ได้ดำเนินการส่งทางรถไฟมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2473 ปรากฏรายการในราชกิจจานุเบกษาว่า “บานประตูไม้ลายฉลัก ครั้งสมัยศรีอยุธยา 1 คู่” รูปยักษ์ฉลัก ครั้งสมัยศรีอยุธยา 1 คู่” “แผ่นไม้ฉลักรูปราหูอมจันทร์ ครั้งสมัยศรีอยุธยา 1 ชิ้น” ส่วน “ไม้สลักด้าน 1 เปนรูปอกเลา อีกด้าน 1 เปนรูปลายประจำยาม” ซึ่งเป็นองค์ประกอบของซุ้มประตูหน้าราหูนั้น ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา

งานศิลปกรรมเหล่านี้ได้ถูกนำออกมาจัดแสดงชั่วคราวหลายครั้ง ปัจจุบันบานประตูของวิหารหลวงได้รับการจัดแสดงถาวรที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ส่วนชิ้นส่วนยักษ์ทวารบาล และซุ้มประตูหน้าราหูจัดแสดงชั่วคราวอยู่ในนิทรรศการ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 นี้

น่าเสียดายเหมือนกันที่ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้อาจทำให้ผู้สนใจหลายท่าน รวมทั้งตัวผู้เขียนเองไม่มีโอกาสได้ชมชิ้นส่วนของซุ้มประตูหน้าราหู เนื่องจากนิทรรศการใกล้จะจบลงแล้ว ซุ้มประตูหน้าราหูนี้เป็นลักษณะของซุ้มประตูที่พบมากในพื้นที่เมืองไชยาโบราณ ลักษณะเหมือนเสาชิงช้าที่ใส่แผงหน้าราหูเข้าไป ใช้เป็นทางเข้าหลักของวัด มักอยู่ตรงแทนเดียวกับโบสถ์วิหาร มีตัวอย่างเหลือที่วัดพระประสบ วัดป่าลิไลยก์ ไชยา วัดท่าสะท้อน พุนพิน เป็นอาทิ ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่อยุธยาตอนปลายมาจนถึงราวรัชกาลที่ 7 มีคติเกี่ยวกับซุ้มประตูนี้ 2 ประการคือ 1 คณะหนังตะลุงโนรา เมื่อยกขบวนผ่านหน้าซุ้มประตูเหล่านี้ต้องหยุดบวงสรวง ถวายมือ 2 คือขบวนแห่นาคจะลอดผ่านซุ้มประตูนี้ไม่ได้ ต้องเลี่ยงไปเข้าช่องกำแพงวัด

คติเรื่องซุ้มประตูนี้ไม่แน่ชัด ดั้งเดิมทำเป็นหน้ากาลจับนาค พอเข้ารัตนโกสินทร์เปลี่ยนมาทำราหูอมจันทร์ คงมีรากเดิมมาจากหน้ากาลซุ้มประตูแล้วคลี่คลายมา ท่านพุทธทาสภิกขุตีความซุ้มประตูหน้าราหูนี้ว่า พระจันทร์ที่กำลังถูกกลืนนั้นเป็นเสมือนจิตที่พยายามเอาชนะกิเลส ปัจจุบันซุ้มเก่า ๆ ชำรุดลง การสร้างประตูวัดสมัยใหม่บ้างก็ลืมเลือนคติเก่า ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไชยาโบราณ และศิลปสถาปัตยกรรมประจำอ่าวบ้านดอนไปเสียแล้ว

รอยอดีตที่กระจัดกระจาย

วัดจำปาปัจจุบันอาจไม่ได้รุ่งเรืองดังเก่า สามีภรรยาใดจะชักชวนกันมางานบุญวัดจำปา อาจไม่ต้องคิดหน้าตรลบหลังว่าอาจทำอะไรผิดพลาดจนชาวบ้านนำไปพูดกันปากต่อปากให้อายอีกแล้ว แต่เป็นความโชคดีทีเดียว ที่อดีตอันยาวนานของวัดแห่งนี้ได้ทิ้งร่องรอยเล็ก ๆ แต่ละส่วนละส่วนเอาไว้มากมาย ตั้งแต่งานศิลปกรรมหลายชิ้นซึ่งถูกหน่วยงานของรัฐเห็นคุณค่านำไปรักษาไว้ตั้ง 80 กว่าปีก่อน แม้นำไปแล้วจะเก็บงำเข้าถึงยาก แต่ของเหล่านี้ก็ยังอยู่โดยการพิทักษ์ดูแลอย่างดี วิหารของวัดได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ ทรุดโทรมลงบ้างจากการโจมตีของนกพิราบ จารึกวัดจำปาที่ระบุถึงการกัลปนาที่ดินในปี พ.ศ.2309 และกิจกรรมของชาววัดในปี พ.ศ.2319 แสดงให้เห็นความสืบเนื่องของวัด และผู้คนหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา บันทึกในปี พ.ศ.2445 และ 2488 ให้ข้อมูลของวัดเท่าที่ปรากฏมาเป็นลำดับ

วัดจำปาจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าภูมิใจของชาวไชยา ของชุมชนรอบอ่าวบ้านดอน ของใครซักคนที่เห็นความเชื่อมโยงของหลักฐานมากมายผ่านกาลเวลา การได้รีเสิร์ชเกี่ยววัดจำปาจึงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาในภาคสนามที่สนุกที่สุดอันหนึ่งของคิดอย่าง ส่วนท้ายนี้อยากฝากไว้เป็นแรงบันดาลใจถึงใครก็ตามที่อ่านมาถึงจุดนี้ ยังมีชีวิตและเรื่องราวของผู้คนอีกมากอยู่ในโลกกว้างข้างนอก หลังยุคโควิดยังมีอะไรให้เราเรียนรู้ และค้นหากันอีกเยอะครับ

ขอกราบขอบพระคุณ

– พระครูสุตธรรมชัย (พิเชษฐ์ ป.ธ.3). เจ้าคณะตำบลทุ่ง. เจ้าอาวาสวัดจำปา

ขอขอบคุณในความอนุเคราะห์จาก

– มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ

– นายสุรศักดิ์ ลอยใหม่ คุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนราชวินิต มัธยม ชาวตำบลทุ่ง ธิดาพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ฯลฯ

– นายมัชฌิมา จำปา ปลัดอำเภอตาพระยา ชาวไชยาแท้ ๆ ผู้ช่วยเก็บข้อมูลภาคสนาม

ข้อมูลอ้างอิง

– BIA 1.2/4 กล่อง 1 จัดทำประวัติวัด ประวัติผู้มีสมณศักดิ์ และขนบธรรมเนียมใน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี [พ.ศ.2487-2502]

– ศธ.0701.1.1/83 การตรวจโบราณวัตถุสถานในอำเภอเมืองไชยา จ.ว.สุราษฎร์ธานี และพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2473

– จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

– ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความราชบัณฑิตยสภา เรื่อง มีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร (๒๔๗๓, ๒๓ พฤศจิกายน) เล่มที่ ๔๗ ตอนที่ ๐ง.

– สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 4 : จำปา, วัด (หน้า 1568-1572)

– ตำนานเมืองไชยา – https://www.facebook.com/groups/menamluang/permalink/973253086183101

– วิทยานิพนธ์ พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนางสาวเพลงเมธา ขาวหนูนา

http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/handle/123456789/617

– วิทยานิพนธ์ การศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบมีมุขประเจิด โดยชลอ กาเรียนทอง

http://202.28.75.7/xmlui/handle/123456789/2745

ข้อมูลบางส่วนได้ปรับปรุงจากโพสต์เก่าในกลุ่มศิลปะสถาปัตยกรรมลุ่มแม่น้ำหลวง

– ศิลปกรรมชิ้นสำคัญของวัดจำปา 3 ชิ้นที่กระจัดกระจายไปจากวัด

https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/665239446984468/

– วิหารวัดจำปา – เรื่องฝาลูกกรงของวิหารวัดจำปา

https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/758466580995087/

– ธรรมาสน์จำลอง / ป้ายหลุมศพ / และยุคสมัยแขกปกครองพุทธในไชยา

https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/1175663565942051/

– รูปทวารบาลจากประตูโบสถ์วัดจำปา ต.ทุ่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/1905220172986383/

– ภาพถ่ายเก่าของวัดจำปา สำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/1180785152096559/

– ภาพถ่ายเก่าวิหารไม้วัดจำปา ไม่ทราบปีที่ถ่าย

https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/758470637661348/

จดหมายเหตุทูตไทยไปนมัสการพระเจดีย์เมืองทิพย์ สมัยกรุงศรีอยุธยา

จดหมายเหตุทูตไทยไปนมัสการพระเจดีย์เมืองทิพย์ สมัยกรุงศรีอยุธยา

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจคิดอย่าง ดูต้นฉบับที่นี่

ย้อนไปซักสองปีเศษคิดอย่างได้มีโอกาสเข้าไปขลุกอยู่ในหอเอกสารโบราณแห่งหนึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช (ไม่ได้หนีไปบวช) ได้พบสมุดไทยขาว หรืออย่างที่ชาวเมืองนครเรียกว่าบุดขาว ชื่อว่า ตำนานพระปรางค์เมืองหงสาวดี เป็นสมุดหนาประมาณ ๑๕ พับ นัยว่าเป็นจดหมายเหตุครั้งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแต่งพระศรีธรรมราช ขุนการเวก แลคณะรวมสงฆ์ฆราวาสได้ ๕๐๐ คนเป็นคณะทูตไปสืบหาพระเจดีย์ (หรือที่เอกสารนี้เรียกพระปรางค์) ตามที่ได้ยินเล่าลือกันมาว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกได้สถาปนาขึ้นไว้ที่เมืองหงสาวดี

ในวโรกาสอันพระมหาเทวีเจ้าจากเมืองทิพย์ ได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ณ กรุง คิดอย่างจึงใคร่หยิบยกจดหมายเหตุเก่าครั้งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแต่งทูตไปนมัสการพระเจดีย์เมืองทิพย์ เป็นหลักฐานเค้ารอยแห่งมิตรภาพระหว่างสยามกับเมืองทิพย์ที่แนบแน่นมาแต่ครั้งโบราณ ควรที่เยาวรุ่นยุคนี้พึงรู้ไว้

คณะขุนการเวกยกออกจากกรุงศรีอยุธยาไปทางเมืองสุพรรณ ผ่านสถานที่มีชื่อหลายแห่งเป็นเวลาแรมเดือนก็มาพบพระเจดีย์นั้น ได้สำรวจรังวัด เก็บข้อมูลภาคสนาม อยู่หลายวันแล้วพากันกลับมากรุงศรีอยุธยาถวายรายงานทราบฝ่าละอองฯ แล้วได้เขียนจดหมายเหตุตามที่ได้พบเห็นขึ้นไว้เป็นหลักฐาน ผู้คนได้คัดลอกกันสืบ ๆ มาจนเดี๋ยวนี้

อันที่จริงโดยความดังกล่าวดูเผิน ๆ แล้วก็ไม่เห็นว่ามันแปลกอย่างไรเป็นจดหมายเหตุธรรมดา ข้อนี้ท่านผู้อ่านที่ไม่สังกาในกระสวน ระยะ เส้นวาศอกคืบ ตามพรรณามาก็จะเห็นผ่านไปเป็นปกติ แต่มันไม่ปกติดังจะได้ลำดับขนาดของพระเจดีย์และองค์ประกอบที่ขุนการเวกกับคณะได้รังวัดมาเป็นรายการต่อไปนี้

ขนาดของพระเจดีย์ และองค์ประกอบตามได้วัดมา

๑. ท่ามกลางพระปรางค์ (เส้นผ่านศูนย์กลางเจดีย์) ๖๒๐ เส้น (24.80 กิโลเมตร)
๒. แต่ท่ามกลางตลอดยอด (ความสูงจากฐานถึงยอด) ได้ ๓๘๐ เส้น (15.20 กิโลเมตร)
๓. กว้างในพระปรางค์เหลี่ยมหนึ่ง (แต่ละย่อมุมของเจดีย์) ได้ ๒ เส้น (80 เมตร)
๔. ราวบันไดทางขึ้นย่อมเหล็ก (เหล็กราวจับบันได) ใหญ่ได้ ๗ กำ (1.40 เมตร)
๕. ลูกบันไดทองแดง (บันไดทำด้วยทองแดงแต่ละขั้นมีความสูง) ใหญ่ได้ ๓ กำ (60 เซนติเมตร)
๖. เสาฉัตรสองข้างบันไดใหญ่ได้ ๙ กำ (1.80 เมตร)

ตาปะขาวผู้เฝ้าเจดีย์ได้เล่าให้ขุนการเวกกับคณะฟังว่าระหว่างสร้างเจดีย์ คนงานพลัดตกลงมาเจ็บตายรวมกันได้ ๙ โกฐ (90 ล้านคน) (แต่ตายแล้วได้ไปสวรรค์ทุกคน)

๗. อิฐที่สร้างพระเจดีย์นั้น แต่ละก้อนยาว ๕ วา (10 เมตร) กว้าง ๕ ศอก (2.50 เมตร) หนา ๔ ศอก ๖ นิ้ว (2.15 เมตร)
๘. ทองคำที่บุพระเจดีย์นั้นแต่ละแผ่นหนา ๓ นิ้ว (7.5 เซนติเมตร) กว้าง ๓ ศอก (1.50 เมตร) ยาว ๕ ศอก (2.50 เมตร) หุ้มจากยอดเจดีย์ลงมาถึงองค์ระฆัง แล้วจากนั้นลงมาถึงพื้นบุด้วยแผ่นนากขนาดเท่ากัน ที่ลานประทักษิณพระเจดีย์ปูด้วยแผ่นทองแดงทั้งหมด

ในเขตพระอารามที่ตั้งพระเจดีย์นั้นมีสระน้ำมันหอมสระหนึ่ง สระน้ำมันงาสระหนึ่ง อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว ๕๐๐ วา (20 กิโลเมตร) ห่างจากพระเจดีย์ไปได้ ๑๕๐ เส้น (6 กิโลเมตร) มีวัดพระเชตุพน มีวิหารใหญ่ ฐานวิหารสูง ๑๕ เส้น (600 เมตร) กว้าง ๑๕ เส้น (600 เมตร) ยาว ๘๐ เส้น (3.20 กิโลเมตร)

ในวัดพระเชตุพนมีระฆังปากกว้าง ๕ วา (10 เมตร) สูง ๑๘ วา (36 เมตร) สำริดที่หล่อหนา ๑๗ นิ้ว (42.5 เซนติเมตร) เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๘๐ กำ (36 เมตร) ไม้ตีระฆังใหญ่ได้ ๑๘ กำ (3.60 เมตร)
ในวัดพระเชตุพนมีพระสงฆ์ ๑๐๓๐ องค์ พระสังฆราชประทับกุฎิใหญ่ ๓๗๐ ห้อง
คณะทูตที่ไปร่วม ๕๐๐ คนนั้นเสียชีวิตตามทางมาถึงพระเจดีย์ได้ ๒๐๐ คน บวชอยู่ที่นั้น ๕๒ คน กลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา ๑๔๘ คน

พิจารณาจากขนาดของพระเจดีย์ที่ระบุว่าสูงถึง ๑๕ กิโลเมตรเศษ กว้างเกือบ ๒๙ กิโลเมตรแล้ว แม้ว่าเอกสารจะระบุว่าเจดีย์นี้ตั้งอยู่ที่หงสาวดี และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ได้ทรงอ่านอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของเอกสารชิ้นนี้และสันนิษฐานว่าน่าจะคือพระเจดีย์ชเวดากอง (ไม่ทรงคิดว่าเป็นพระมุเตา) แต่สำหรับคิดอย่างแล้วเมื่อใคร่ครวญถึงขนาดมหึมาของพระเจดีย์เห็นว่า พระเจดีย์ที่คณะทูตได้ไปนมัสการนั้น จะเป็นที่อื่นในโลกนี้ไม่ได้เลยนอกจากเป็นพระเจดีย์ทิพย์แห่งเมืองทิพย์ !! (ชเวดากองสูงเพียง ๑๐๐ เมตรเศษ ขณะที่ตึกที่สูงที่สุดในโลกสูงเพียงกิโลเมตรเศษเท่านั้น เจดีย์ที่สูงถึง ๑๕ กิโลเมตรย่อมไม่มีอยู่ในโลกของเรา แต่มีในเมืองทิพย์) คณะทูตคงได้พลัดหลงเข้าไปในเขตแดนของเมืองทิพย์โดยบังเอิญ ได้พบเห็นภูมิสถานบ้านเมือง และพระเจดีย์ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกสถาปนาไว้ จนกระทั่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระมหาเทวีเจ้า

เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารชิ้นนี้

คิดอย่างได้มีโอกาสตรวจสอบเพิ่มนิดหน่อยพบว่าจดหมายเหตุฉบับนี้มีสำเนาคัดลอกค่อนข้างกว้างขวางทีเดียว ในปี ๒๔๖๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้โปรดให้พิมพ์จดหมายเหตุฉบับนี้ในงานพระราชทานเพลิงศพพระไตรสรณธัช (เย็น) วัดบวรมงคล ใช้ชื่อว่า จดหมายเหตุเก่า เรื่องพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาแต่งทูตไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์เมืองหงสาวดี และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี ๒๔๗๐ แจกในการพระกฐินพระราชทาน ณ วัดทรงธรรม พระประแดง

ในปี ๒๕๔๖ ชัยวุฒิ พิยะกูลได้ปริวรรติเอกสารชื่อ ตำนานพระปรางค์เมืองหงสาวดีและพระอถังคีมรรค ฉบับวัดวิหารสูง เมืองพัทลุง เนื้อหานั้นคล้ายกับจดหมายเหตุทูตไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์ และฉบับสมุดไทยขาวที่คิดอย่างพบในหอเอกสารโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ฉบับวัดวิหารสูงนั้นมีการร้อยกรองเนื้อหาเป็นกลอนเพลงยาวด้วย

ที่หอสมุดแห่งชาติเบอร์ลิน เยอรมัน ให้บริการสมุดไทยขาวเล่มหนึ่งชื่อ Eine geschichtlich-mythologische Abhandlung über Hangsāwădī (Hongsawadi)ในรูปแบบดิจิตอล เนื้อความใกล้เคียงกับฉบับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนำมาตีพิมพ์

ในที่นี้ใช้ระยะเทียบตามปัจจุบันแทนค่าเพื่อความสะดวก

๑ นิ้ว (๒.๕ เซนติเมตร)

๑๐ นิ้ว เป็น ๑ คืบ (๒๕ เซนติเมตร)

๒ คืบ เป็น ๑ ศอก (๕๐ เซนติเมตร)

๔ ศอก เป็น ๑ วา (๒ เมตร)

๒๐ วา เป็น ๑ เส้น (๔๐ เมตร)

๑ กำ กะประมาณ ๒๐ เซนติเมตร แต่ระยะ ๑ กำที่แน่นอนยังเป็นที่ถกเถียงกะกันว่าใกล้เคียง ๑ คืบ แต่น้อยกว่า

คลิกดูเอกสารต้นฉบับ

Eine geschichtlich-mythologische Abhandlung über Hangsāwădī (Hongsawadi)

ตำนานพระปรางค์เมืองหงสาวดีและพระอถังคีมรรค ฉบับวัดวิหารสูง

จดหมายเหตุเก่าเรื่องพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา แต่งทูตไปนมัสการพระมาลัยเจดีย์เมืองหงสา ฉบับปี 2470

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีไฟล์ดิจิทัลแล้ว

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีไฟล์ดิจิทัลแล้ว

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีไฟล์ดิจิตอลแล้ว มีฐานข้อมูลค้นได้แล้ว โดยสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

คลิกดูที่นี่

พิกัดของศาสนสมบัติกลางและวัดร้างทั่วประเทศ

พิกัดของศาสนสมบัติกลางและวัดร้างทั่วประเทศ

พิกัดภูมิศาสตร์ของวัดร้างในไทย โดยสำนักงานพุทธฯ มีไฟล์ .cvs ที่ง่ายต่อการแปลงข้อมูลเพื่อแสดงตำแหน่งวัดร้างเหล่านี้ในแผนที่ ตำแหน่งวัดร้างเหล่านี้มีประโยชน์มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่

แต่เชคกับทะเบียนวัดร้างในเขตเมืองนครศรีธรรมราชที่ได้มาเป็นตัวเล่มมา ไฟล์ที่เผยแพร่นี้ยังขาดวัดร้างไปราว ๆ สามสิบวัด อาจเพราะเป็นวัดเหลือแต่ชื่อไม่มีที่ที่อยู่ในกำกับของสำนักงานพุทธศาสนาแล้ว ในเขตจังหวัดอื่น ๆ อาจจะเจอคล้าย ๆ กัน แล้วก็มีวัดร้างที่ดูเหมือนเป็นโบราณสถานหลายวัดโดยเฉพาะในเขตอยุธยาที่ไม่มีข้อมูลพิกัด อันนี้ถ้าขยันก็น่าจะสามารถหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาซ่อมเสริมได้

อันนี้ผมทำลงในกูเกิลแมพไว้แล้ว คลิกดูได้เลยที่นี่

ส่วนข้อมูลดิบ คลิกดูได้เลยที่นี่

ลองไปเล่น ไปค้นกันดูครับ