ร่องรอยที่เหลืออยู่ที่เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช เก่าแก่ยิ่งกว่ายุคพระเจ้าตากหนีมาบวช และมีจิตรกรรมที่น่าสนใจอยู่ในนั้น

ร่องรอยที่เหลืออยู่ที่เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช เก่าแก่ยิ่งกว่ายุคพระเจ้าตากหนีมาบวช และมีจิตรกรรมที่น่าสนใจอยู่ในนั้น

ถ้ำเขาขุนพนม เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นของสายมูเมื่อมายังเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากไปวัดเจดีย์ไอ้ไข่แล้วก็ต้องมาไหว้พระเจ้าตากที่นี่ เพราะเกิดตำนานลือกันว่าเป็นที่ที่ท่านหนีมาบวชอยู่จนนิพพาน (ใช่แล้วนี่คือศูนย์กลางของตำนานการหนีมาบวชที่เมืองนคร) ก่อนจะเชิญศพไปปลงที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วเอาอัฐิประดิษฐานไว้ในเก๋งจีนวัดประดู่ ตำนานที่คนเล่าลือกันในปัจจุบันว่าเช่นนี้ แต่วัดเขาขุนพนมเดิมทีมีตำนานที่เก่ากว่า

ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีบันทึกอยู่ในสมุดไทยหลายเล่ม กล่าวว่าในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชผู้สร้างพระบรมธาตุ พระมหาเถรสัจจานุเทพ พระเถระที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกให้ความนับถือได้สร้างวัดพระเดิม (ปัจจุบันคือเขตสังฆาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) แล้วสร้างวัดหว้าทยาน (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง) เมื่อขัดเคืองกับพระเจ้าศรีธรรมาโศก มหาเถรท่านได้ออกไปสร้างวัดที่เขาน้อย เมื่อมหาเถรสัจจานุเทพมรณภาพแล้วพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเสด็จไปปลงศพท่านที่นั่นแล้วตรัสเรียกอารามที่เขาน้อยว่า เขาน้อยคุมพนม ปัจจุบันเรียกว่าวัดเขาขุนพนม

บนเขาขุนพนมมีวิหารถ้ำ สูงจากพื้นดินราว ๆ 50 – 80 เมตร เกิดจากการก่อผนังขึ้นกั้นเพิงผาที่หันไปทางทิศตะวันออกจนเกิดเป็นห้องเล็ก ๆ กว้างยาวราว 4.5 * 5.5 เมตร เพดานสูงราว ๆ 1.70 ซม. ปัจจุบันเรียกถ้ำนี้ว่าถ้ำพระนอน เพราะมีพระนอนองค์ย่อม ๆ อยู่ภายใน

วิธีการก่อผนังกั้นเพิงผาจนเกิดเป็นวิหารถ้ำนี้เป็นวิธีที่พบทั่วไปในลังกา การที่พบโกลนซุ้มมกรโตรณะด้านหน้าทางเข้านี้ และตัวหินกรอบประตูซุ้มใช้หินแกรนิตแบบเดียวกับที่นิยมในยุคตามพรลิงค์ ผมคิดว่ามันสะท้อนว่าถ้ำนี้น่าจะสร้างขึ้นโดยคนที่เคยเห็นวิหารถ้ำแบบนี้ในลังกาแล้วพยายามเอารูปแบบกลับมาทำตามที่พอจะจำได้ เพราะปกติแล้วในภาคใต้เรานิยมใช้ถ้ำจริง ๆ ปรับเป็นวิหาร หรือพุทธคูหามากกว่าจะมากั้นห้องให้เกิดถ้ำจำลองขึ้น

เพดานถ้ำพระนอนนี้มีร่องรอยของการฉาบไล้ด้วยปูนขาว และน่าจะเคยเขียนจิตรกรรมจนเต็มที่ทั้งเพดานถ้ำแบบเดียวกับวิหารถ้ำหลายแห่งในศรีลังกา

ปัจจุบันเหลือจิตรกรรมอยู่ขอบผนังทางด้านทิศใต้เท่านั้นคิดเป็นราว ๆ 5 เปอร์เซ็นของพื้นที่ที่น่าจะเคยมีจิตรกรรมทั้งหมด

มีจิตรกรรมที่ยังปรากฏชัดอยู่ 2 จุด คือจุดบริเวณด้านล่างฐานพระนอน เขียนภาพคนนั่งกระโหย่งไหว้ คนตรงกลางเขียนนั่งหันหลังซึ่งเหลือให้เห็นไม่มากในงานจิตรกรรมไทย ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดปราสาท วัดเกาะเมืองเพชร ฯ

อีกจุดหนึ่งอยู่ถัดลึกเข้าไปในถ้ำเขียนเป็นนาค 7 ศีรษะ

จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่นี้น่าจะเป็นรุ่นอยุธยาผมคิดว่าอาจจะอยู่ในราว ๆ พศว.21 – 22 ต้น ๆ อาจจะก่อนหน้านี้แต่ไม่หลังจากนี้ หรือจิตรกรรมที่เพดานซึ่งเขียนรูปนาคอาจจะเก่ากว่าจิตรกรรมรูปคนนั่งกระโหย่งไหว้เพราะการใช้เส้นคนละแบบ จริงอยากจะเสนอว่าจิตรกรรส่วนบนเพดานอาจจะเก่าถึงยุคศรีธรรมาโศกราชก็ได้แต่ก็ยังยากจะพูดตอนนี้

การเป็นวิหารถ้ำที่เคยมีจิตรกรรมเต็มตลอดทั้งเพดาน และจากร่องรอยที่เหลืออยู่ก็แสดงถึงฝีมือการเขียนในระดับสูง แสดงถึงความสำคัญของถ้ำและวัดเขาขุนพนมแห่งนี้ที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์เมืองนครมาตั้งแต่ยุคตำนาน ที่จริงแล้วตำนานพระบรมธาตุ และตำนานพระธาตุเมืองนครกล่าวถึงวัดสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกอยู่ไม่กี่วัด

ได้แก่พระธาตุ พระเดิม หว้าทยาน ท่าช้าง เสมาทอง เวียงสระ และวัดเขาขุนพนม นอกจากพระธาตุซึ่งอยู่กลางสันทรายแก้วแล้ว มีเพียงวัดเขาขุนพนมที่คงสภาพและปรากฏวัตถุสถานเหลืออยู่ ที่เหลือนั้นได้อันตรธานและสิ้นสภาพไปแล้ว วัดเวียงสระก็เหลือร่องรอยของเก่าไม่มากนัก

ทุกวันนี้ไปเขาขุนพนมทุกคนคิดถึงแต่เรื่องพระเจ้าตาก ซึ่งที่มาที่ไปซับซ้อนและคลุมเครือ น้อยคนจะรู้ว่ามันมีสิ่งที่มีมาเก่าก่อนและมีความสำคัญมาก ๆ พำนักอยู่ด้วยอย่างเงียบเชียบ

ปัจจุบันถ้ำพระนอนไม่สามารถเข้าไปด้านในได้แต่สามารถส่องไฟสองกล้องผ่านประตูเหล็กดัดเข้าไปได้ ภาพจิตรกรรมสองภาพนี้คิดอย่างได้รับอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ที่นับถือกันมานาน ถ่ายมานานหลายปีตั้งแต่สมัยยังเข้าไปในด้านในได้ ถ้าได้สำรวจโดยละเอียด อาจพบจิตรกรรมเหลืออยู่มากกว่าเพียง 2 จุดนี้ก็ได้ครับ

จดหมายเหตุทูตไทยไปนมัสการพระเจดีย์เมืองทิพย์ สมัยกรุงศรีอยุธยา

จดหมายเหตุทูตไทยไปนมัสการพระเจดีย์เมืองทิพย์ สมัยกรุงศรีอยุธยา

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจคิดอย่าง ดูต้นฉบับที่นี่

ย้อนไปซักสองปีเศษคิดอย่างได้มีโอกาสเข้าไปขลุกอยู่ในหอเอกสารโบราณแห่งหนึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช (ไม่ได้หนีไปบวช) ได้พบสมุดไทยขาว หรืออย่างที่ชาวเมืองนครเรียกว่าบุดขาว ชื่อว่า ตำนานพระปรางค์เมืองหงสาวดี เป็นสมุดหนาประมาณ ๑๕ พับ นัยว่าเป็นจดหมายเหตุครั้งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแต่งพระศรีธรรมราช ขุนการเวก แลคณะรวมสงฆ์ฆราวาสได้ ๕๐๐ คนเป็นคณะทูตไปสืบหาพระเจดีย์ (หรือที่เอกสารนี้เรียกพระปรางค์) ตามที่ได้ยินเล่าลือกันมาว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกได้สถาปนาขึ้นไว้ที่เมืองหงสาวดี

ในวโรกาสอันพระมหาเทวีเจ้าจากเมืองทิพย์ ได้เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ณ กรุง คิดอย่างจึงใคร่หยิบยกจดหมายเหตุเก่าครั้งพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแต่งทูตไปนมัสการพระเจดีย์เมืองทิพย์ เป็นหลักฐานเค้ารอยแห่งมิตรภาพระหว่างสยามกับเมืองทิพย์ที่แนบแน่นมาแต่ครั้งโบราณ ควรที่เยาวรุ่นยุคนี้พึงรู้ไว้

คณะขุนการเวกยกออกจากกรุงศรีอยุธยาไปทางเมืองสุพรรณ ผ่านสถานที่มีชื่อหลายแห่งเป็นเวลาแรมเดือนก็มาพบพระเจดีย์นั้น ได้สำรวจรังวัด เก็บข้อมูลภาคสนาม อยู่หลายวันแล้วพากันกลับมากรุงศรีอยุธยาถวายรายงานทราบฝ่าละอองฯ แล้วได้เขียนจดหมายเหตุตามที่ได้พบเห็นขึ้นไว้เป็นหลักฐาน ผู้คนได้คัดลอกกันสืบ ๆ มาจนเดี๋ยวนี้

อันที่จริงโดยความดังกล่าวดูเผิน ๆ แล้วก็ไม่เห็นว่ามันแปลกอย่างไรเป็นจดหมายเหตุธรรมดา ข้อนี้ท่านผู้อ่านที่ไม่สังกาในกระสวน ระยะ เส้นวาศอกคืบ ตามพรรณามาก็จะเห็นผ่านไปเป็นปกติ แต่มันไม่ปกติดังจะได้ลำดับขนาดของพระเจดีย์และองค์ประกอบที่ขุนการเวกกับคณะได้รังวัดมาเป็นรายการต่อไปนี้

ขนาดของพระเจดีย์ และองค์ประกอบตามได้วัดมา

๑. ท่ามกลางพระปรางค์ (เส้นผ่านศูนย์กลางเจดีย์) ๖๒๐ เส้น (24.80 กิโลเมตร)
๒. แต่ท่ามกลางตลอดยอด (ความสูงจากฐานถึงยอด) ได้ ๓๘๐ เส้น (15.20 กิโลเมตร)
๓. กว้างในพระปรางค์เหลี่ยมหนึ่ง (แต่ละย่อมุมของเจดีย์) ได้ ๒ เส้น (80 เมตร)
๔. ราวบันไดทางขึ้นย่อมเหล็ก (เหล็กราวจับบันได) ใหญ่ได้ ๗ กำ (1.40 เมตร)
๕. ลูกบันไดทองแดง (บันไดทำด้วยทองแดงแต่ละขั้นมีความสูง) ใหญ่ได้ ๓ กำ (60 เซนติเมตร)
๖. เสาฉัตรสองข้างบันไดใหญ่ได้ ๙ กำ (1.80 เมตร)

ตาปะขาวผู้เฝ้าเจดีย์ได้เล่าให้ขุนการเวกกับคณะฟังว่าระหว่างสร้างเจดีย์ คนงานพลัดตกลงมาเจ็บตายรวมกันได้ ๙ โกฐ (90 ล้านคน) (แต่ตายแล้วได้ไปสวรรค์ทุกคน)

๗. อิฐที่สร้างพระเจดีย์นั้น แต่ละก้อนยาว ๕ วา (10 เมตร) กว้าง ๕ ศอก (2.50 เมตร) หนา ๔ ศอก ๖ นิ้ว (2.15 เมตร)
๘. ทองคำที่บุพระเจดีย์นั้นแต่ละแผ่นหนา ๓ นิ้ว (7.5 เซนติเมตร) กว้าง ๓ ศอก (1.50 เมตร) ยาว ๕ ศอก (2.50 เมตร) หุ้มจากยอดเจดีย์ลงมาถึงองค์ระฆัง แล้วจากนั้นลงมาถึงพื้นบุด้วยแผ่นนากขนาดเท่ากัน ที่ลานประทักษิณพระเจดีย์ปูด้วยแผ่นทองแดงทั้งหมด

ในเขตพระอารามที่ตั้งพระเจดีย์นั้นมีสระน้ำมันหอมสระหนึ่ง สระน้ำมันงาสระหนึ่ง อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว ๕๐๐ วา (20 กิโลเมตร) ห่างจากพระเจดีย์ไปได้ ๑๕๐ เส้น (6 กิโลเมตร) มีวัดพระเชตุพน มีวิหารใหญ่ ฐานวิหารสูง ๑๕ เส้น (600 เมตร) กว้าง ๑๕ เส้น (600 เมตร) ยาว ๘๐ เส้น (3.20 กิโลเมตร)

ในวัดพระเชตุพนมีระฆังปากกว้าง ๕ วา (10 เมตร) สูง ๑๘ วา (36 เมตร) สำริดที่หล่อหนา ๑๗ นิ้ว (42.5 เซนติเมตร) เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๘๐ กำ (36 เมตร) ไม้ตีระฆังใหญ่ได้ ๑๘ กำ (3.60 เมตร)
ในวัดพระเชตุพนมีพระสงฆ์ ๑๐๓๐ องค์ พระสังฆราชประทับกุฎิใหญ่ ๓๗๐ ห้อง
คณะทูตที่ไปร่วม ๕๐๐ คนนั้นเสียชีวิตตามทางมาถึงพระเจดีย์ได้ ๒๐๐ คน บวชอยู่ที่นั้น ๕๒ คน กลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา ๑๔๘ คน

พิจารณาจากขนาดของพระเจดีย์ที่ระบุว่าสูงถึง ๑๕ กิโลเมตรเศษ กว้างเกือบ ๒๙ กิโลเมตรแล้ว แม้ว่าเอกสารจะระบุว่าเจดีย์นี้ตั้งอยู่ที่หงสาวดี และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ได้ทรงอ่านอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของเอกสารชิ้นนี้และสันนิษฐานว่าน่าจะคือพระเจดีย์ชเวดากอง (ไม่ทรงคิดว่าเป็นพระมุเตา) แต่สำหรับคิดอย่างแล้วเมื่อใคร่ครวญถึงขนาดมหึมาของพระเจดีย์เห็นว่า พระเจดีย์ที่คณะทูตได้ไปนมัสการนั้น จะเป็นที่อื่นในโลกนี้ไม่ได้เลยนอกจากเป็นพระเจดีย์ทิพย์แห่งเมืองทิพย์ !! (ชเวดากองสูงเพียง ๑๐๐ เมตรเศษ ขณะที่ตึกที่สูงที่สุดในโลกสูงเพียงกิโลเมตรเศษเท่านั้น เจดีย์ที่สูงถึง ๑๕ กิโลเมตรย่อมไม่มีอยู่ในโลกของเรา แต่มีในเมืองทิพย์) คณะทูตคงได้พลัดหลงเข้าไปในเขตแดนของเมืองทิพย์โดยบังเอิญ ได้พบเห็นภูมิสถานบ้านเมือง และพระเจดีย์ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกสถาปนาไว้ จนกระทั่งในปัจจุบันอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระมหาเทวีเจ้า

เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารชิ้นนี้

คิดอย่างได้มีโอกาสตรวจสอบเพิ่มนิดหน่อยพบว่าจดหมายเหตุฉบับนี้มีสำเนาคัดลอกค่อนข้างกว้างขวางทีเดียว ในปี ๒๔๖๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้โปรดให้พิมพ์จดหมายเหตุฉบับนี้ในงานพระราชทานเพลิงศพพระไตรสรณธัช (เย็น) วัดบวรมงคล ใช้ชื่อว่า จดหมายเหตุเก่า เรื่องพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาแต่งทูตไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์เมืองหงสาวดี และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี ๒๔๗๐ แจกในการพระกฐินพระราชทาน ณ วัดทรงธรรม พระประแดง

ในปี ๒๕๔๖ ชัยวุฒิ พิยะกูลได้ปริวรรติเอกสารชื่อ ตำนานพระปรางค์เมืองหงสาวดีและพระอถังคีมรรค ฉบับวัดวิหารสูง เมืองพัทลุง เนื้อหานั้นคล้ายกับจดหมายเหตุทูตไปนมัสการพระมาไลยเจดีย์ และฉบับสมุดไทยขาวที่คิดอย่างพบในหอเอกสารโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่ฉบับวัดวิหารสูงนั้นมีการร้อยกรองเนื้อหาเป็นกลอนเพลงยาวด้วย

ที่หอสมุดแห่งชาติเบอร์ลิน เยอรมัน ให้บริการสมุดไทยขาวเล่มหนึ่งชื่อ Eine geschichtlich-mythologische Abhandlung über Hangsāwădī (Hongsawadi)ในรูปแบบดิจิตอล เนื้อความใกล้เคียงกับฉบับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนำมาตีพิมพ์

ในที่นี้ใช้ระยะเทียบตามปัจจุบันแทนค่าเพื่อความสะดวก

๑ นิ้ว (๒.๕ เซนติเมตร)

๑๐ นิ้ว เป็น ๑ คืบ (๒๕ เซนติเมตร)

๒ คืบ เป็น ๑ ศอก (๕๐ เซนติเมตร)

๔ ศอก เป็น ๑ วา (๒ เมตร)

๒๐ วา เป็น ๑ เส้น (๔๐ เมตร)

๑ กำ กะประมาณ ๒๐ เซนติเมตร แต่ระยะ ๑ กำที่แน่นอนยังเป็นที่ถกเถียงกะกันว่าใกล้เคียง ๑ คืบ แต่น้อยกว่า

คลิกดูเอกสารต้นฉบับ

Eine geschichtlich-mythologische Abhandlung über Hangsāwădī (Hongsawadi)

ตำนานพระปรางค์เมืองหงสาวดีและพระอถังคีมรรค ฉบับวัดวิหารสูง

จดหมายเหตุเก่าเรื่องพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา แต่งทูตไปนมัสการพระมาลัยเจดีย์เมืองหงสา ฉบับปี 2470

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีไฟล์ดิจิทัลแล้ว

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีไฟล์ดิจิทัลแล้ว

ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร มีไฟล์ดิจิตอลแล้ว มีฐานข้อมูลค้นได้แล้ว โดยสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

คลิกดูที่นี่

พิกัดของศาสนสมบัติกลางและวัดร้างทั่วประเทศ

พิกัดของศาสนสมบัติกลางและวัดร้างทั่วประเทศ

พิกัดภูมิศาสตร์ของวัดร้างในไทย โดยสำนักงานพุทธฯ มีไฟล์ .cvs ที่ง่ายต่อการแปลงข้อมูลเพื่อแสดงตำแหน่งวัดร้างเหล่านี้ในแผนที่ ตำแหน่งวัดร้างเหล่านี้มีประโยชน์มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่

แต่เชคกับทะเบียนวัดร้างในเขตเมืองนครศรีธรรมราชที่ได้มาเป็นตัวเล่มมา ไฟล์ที่เผยแพร่นี้ยังขาดวัดร้างไปราว ๆ สามสิบวัด อาจเพราะเป็นวัดเหลือแต่ชื่อไม่มีที่ที่อยู่ในกำกับของสำนักงานพุทธศาสนาแล้ว ในเขตจังหวัดอื่น ๆ อาจจะเจอคล้าย ๆ กัน แล้วก็มีวัดร้างที่ดูเหมือนเป็นโบราณสถานหลายวัดโดยเฉพาะในเขตอยุธยาที่ไม่มีข้อมูลพิกัด อันนี้ถ้าขยันก็น่าจะสามารถหาข้อมูลจากแหล่งอื่นมาซ่อมเสริมได้

อันนี้ผมทำลงในกูเกิลแมพไว้แล้ว คลิกดูได้เลยที่นี่

ส่วนข้อมูลดิบ คลิกดูได้เลยที่นี่

ลองไปเล่น ไปค้นกันดูครับ