อย่างที่เรารู้กันว่าในช่วงปีที่ผ่านมาเกิดกระแสฮือฮาในวงการประวัติศาสตร์อยุธยากับข้อเสนอของ อ. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ที่เสนอว่าเศียรใหญ่ปริศนาในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนครเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชญ (รุ่งโรจน์, 2560) อาจถือเป็นปรากฎการณ์ที่นานๆวงการประวัติศาสตร์ไทยจะดูมีชีวิตชีวาด้วยข้อเสนอใหม่ และบรรยากาศการถกเถียงที่สนุกสนานไม่น้อย และแน่นอนว่าเมื่อมีข้อเสนอใหม่ๆก็ย่อมตามมาด้วยการดีเบท อาจว่าเป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดีเมื่ออ.พิชญา สุ่มจินดา เสนอเรื่องศิลปกรรมเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหารสมัยปราสาททอง ในนั้นยังรวมถึงข้อโต้แย้งสถานะเศียรใหญ่ที่ รุ่งโรจน์เสนอโดยใช้เครื่องมืออย่างการคำนวณสัดส่วนพระพุทธรูปโดยตั้งข้อสังเกตว่าหากอ้างอิงจากขนาดเศียรใหญ่ พระพุทธรูปจะมีขนาดเล็กกว่าวิหารและขนาดตามบันทึกชาวต่างชาติหรือในพงศาวดาร ประกอบกับลักษณะโครงพระพักตร์แบบพระนั่งของเศียรใหญ่ที่ต่างจากพระยืนที่จะมีการยืดสัดส่วนหน้าอย่างชัดเจน ทั้งยังเสนอถึงความเป็นไปได้ว่าเศียรดังกล่าวอาจเคยเป็นพระป่าลิไลย์ในมณฑปที่ขนาบไปกับวิหารพระศรีสรรเพชญ์ (พิชญา, 2563)
ถ้ามองดีเบทนี้เหมือนดูมวยคู่เอกข้อเสนอแย้งของ อ.พิชญาก็ดูจะยังไม่เป็นหมัดน๊อค เพราะต่อมาอ.รุ่งโรจน์ก็คัมแบ๊คพร้อมกับบทความในศิลปวัฒนธรรมยืนยันข้อเสนอว่าเศียรใหญ่คือพระศรีสรรเพชญ์ พร้อมทั้งวิพากษ์ถึงการใช้ตำราสร้างพระพุทธรูปซึ่งเป็นตำราที่แต่งหลังช่วงรัชกาลที่ 3 มาสันนิษฐานความสูงที่น่าจะเป็นของเศียรใหญ่ โดยรุ่งโรจน์ชี้ว่าหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะยืนยันความสืบเนื่องการใช้สัดส่วนพระจากตำราดังกล่าวและพระพุทธรูปโลหะสมัยกรุงเก่า (รุ่งโรจน์, 2563) หลังจากนี้ก็ยังมีการพิสูจน์ในประเด็นเรื่องการนำหน่วยวัดตามพงศาวดารหรือบันทึกชาวต่างชาติมาใช้อ้างอิงและโต้แย้ง รวมถึงการวิเคราะห์อายุพุทธศิลป์กัน จนไปโด่งดังในคลิปของประวัติศาสตร์นอกตำรา
ซึ่ง… ในฐานะที่แอดมินไม่ได้มีความชำนาญในเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์เท่าไหร่นักจึงจะขอละเรื่องสัดส่วนหรือการดูพระไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านรวมถึงผู้อ่านที่สนใจวิเคราะห์ต่อยอดกันต่อไป แต่ในที่นี้แอดมินเองก็มีประเด็นที่รู้สึกสนใจเมื่อเรื่องดังกล่าวมาเกี่ยวเนื่องกับ #สถาปัตยกรรม
ที่เมื่อบทความยืนยันข้อเสนอของอ.รุ่งโรจน์ได้เผยแพร่ในเนื้อหาได้มีการยกประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในวิหารประดิษฐานและพระศรีสรรเพชญ์อยู่ประมาณสามประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก
“ พระพุทธรูปสูงเท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญที่ความสูงนั้นประดิษฐาน ที่พระวิหารหลวงได้หรือไม่”
ความเห็นของอ.รุ่งโรจน์ ข้อนี้ได้ถูกไฮไลท์เป็นหัวข้อย่อยในบทความดังกล่าวเพราะเมื่อคำนวณความสูงเศียรใหญ่เมื่อครั้งสมบูรณ์ อ.รุ่งโรจน์เสนอว่าจะมีความสูงไม่เกิน 9.2 เมตร สูงน้อยกว่าที่ได้ประมาณไว้ไป 3 เมตร (แต่สูงกว่าที่อ.พิชญาคำนวณความสูงองค์สมบูรณ์ของเศียรใหญ่และเสนอไว้ที่ 7.67-7.97 เมตร)และเมื่อนำมาประกอบกับความสูงของวิหารที่ประดิษฐานที่ทำการสำรวจและสันนิษฐานโดยทีม อ.เสนอ นิลเดช ในปี 2531โดยมีข้อมูลว่าส่วนโคนเสาถึงรูเต้าบนสูง 11.55 เมตร และมีความสูงตั้งแต่พื้นพระวิหารถึงหัวเสาประมาณ 16.7 เมตร (ต่างจากข้อเสนออ.รุ่งโรจน์ที่กำหนดความสูงจากพื้นจรดหัวเสาที่ 14.97เมตร) จะทำให้ความสูงของพระพุทธรูปเศียรใหญ่ที่มีความสูงเพียง 9.2 เมตร เหลือพื้นที่ว่างเหนือองค์พระประมาณ 5-7เมตรใต้ระดับขื่อเอก และหากอ้างอิงการสร้างวิหารสมัยอยุธยาที่ระดับเพดานมักอยู่ในระดับขื่อโทสูงขึ้นไปอีกเกือบ 2 เมตรก็จะทำให้มีพื้นที่ว่างเหนือองค์พระประมาณ 7-9 เมตร และยังไม่นับว่าปริมาณขององค์พระจะเล็กกว่าระยะความกว้างของเสาร่วมใน เราจะพบว่าความสูงของพระพุทธรูปเศียรใหญ่ภายในวิหารจะขัดแย้งกับคำบอกเล่าของตาชาร์ดที่ระบุว่าพระศรีสรรเพชญที่เขาเห็นนั้นสูงจรดเพดาน และยังเล็กกว่าพระโลกนาถที่เคยตั้งอยู่ในวิหารบริวาร มีความสูง 10 เมตรขัดแย้งกับคำบอกเล่าของเดอชัวซี ที่ระบุว่าพระศรีสรรเพชญเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักร มาถึงตรงนี้เราอาจยอมยืดหยุ่นโดยบอกว่าหลักฐานบันทึกต่างชาติไม่น่าเชื่อถือ อาจมีการใส่ไข่ ฯลฯ และสรุปด้วยการตัดหลักฐานบันทึกต่างชาติออกไปได้
กลับมาที่ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างความสูงพระและวิหาร อ.รุ่งโรจน์ได้สำทับว่าแม้ว่าพระพุทธรูปเศียรใหญ่จะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความสูงและปริมาตรภายในวิหารไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือขอเพียงพระพุทธรูปสามารถประดิษฐานในวิหารหลวงโดยไม่กระทบโครงสร้างได้ก็เพียงพอ
#ความเห็นคิดอย่าง ตรงนี้แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานยืนยันถึงกระบวนการออกแบบวิหารในสมัยอยุธยาว่าช่างเจาะจงที่จะออกแบบให้พระประธานสัมพันธ์กับอาคารหรือไม่ แต่เราจะพบว่าวิหารและอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดในสมัยอยุธยาจะมีขนาดความสูงและปริมาตรที่สัมพันธ์กับพระพุทธรูปภายในเสมอตั้งแต่กรณีวิหารพระมงคลบพิตร วิหารวัดพนัญเชิง การสร้างวิหารพระอัฏฐารส รวมถึงวิหารประดิษฐานพระนั่งและยืนจำนวนมากในกรุงเทพฯ
วิหารวัดพนัญเชิง ถ่ายโดย Heinrich Damm, wikipedia
ทั้งนี้นอกจากประเด็นเชิงสุนทรียภาพ การสร้างอาคารให้พอดีกับพระพุทธรูปขนาดใหญ่มักเกิดขึ้นจากกระบวนการก่อสร้างวิหารพระใหญ่ในหลายๆแห่งที่พระพุทธรูปจะถูกสร้างหรือขนมาประดิษฐานก่อนจึงสร้างวิหารครอบทับ ความสูงและปริมาตรพระจึงเป็นที่รับรู้ของช่างที่จะทำการสร้างวิหารครอบ เพื่อให้ความสูงของวิหารนั้นพอดีที่จะประดิษฐานองค์พระ (สอดคล้องกับคำบอกเล่าที่ตาชาร์ดได้ฟังมาคือพระหล่อและตั้งก่อนวิหารจึงสร้างครอบ) ซึ่งในกรณีนี้พระศรีสรรเพชญถือเป็นพระประดิษฐานที่สร้างขึ้นพร้อมกับวิหารจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่ช่างจะสร้างวิหารที่มีความสูงเผื่อทั้งความกว้างและความยาวเหลือขึ้นไปเกือบสิบเมตรให้กับพระประธานที่ตั้งอยู่ก่อนวิหารจะก่อขึ้นไป
“ส่วนกลางพระอารามแห่งนี้ค่อนข้างจะคับแคบและมืดไปสักหน่อย มีชวาลาจุดตามประทีปไว้ 50ดวง พอไปถึงที่สุดตอนกลางพวกเราก็รู้สึกประหลาดใจเป็นอันมาก ด้วยได้เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่หุ้มด้วยทองคำหนาถึง 3 นิ้วฟุตทั้งองค์ เป็นความเจริงพระพุทธรูปองค์นี้สูงประมาณ 42 ฟุต ส่วนกว้างประมาณ 13-14 ฟุต เขาพูดกันว่าทองคำที่หุ้มนั้นมีน้ำหนักถึง 12,400,000 ปอนด์ฝรั่งเศส (คิดอย่างน้ำหนักทองคำ) พระ(ศรีสรรเพชญ์)องค์นี้เป็นพระพุทธรูปยืน ใหญ่สูงกว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นในประเทศใดๆ ที่ใกล้เคียง”
จากบันทึก ฟร็องซัว เดอ ชัวซี(François–Timoléon de Choisy)
ประเด็นที่สอง
“ขื่อต้องไม่บังพระเนครพ”
อ.รุ่งโรจน์ได้แย้งข้อเสนออ.พิชญาที่ได้ประมาณความสูงพระไว้ที่ 16 เมตรซึ่งด้วยความสูงเท่านี้พระเศียรของพระศรีสรรเพชญจะทะลุเลยระดับขื่อ หรือในการคำนวณความสูงของอ.รุ่งโรจน์ประกอบกับ
ภาพกราฟฟิคได้แสดงภาพพระศรีสรรเพชญที่พระพักตร์เลยทะลุระดับขื่อเกือบถึงสันหลังคา และเสนอว่าความสูงของพระศรีสรรเพชญควรจะอยู่ในระดับที่ขื่อไม่บังพระเนตรพระ และยืนยันว่าความสูงองค์พระเศียรใหญ่ประมาณ 9.8 เมตร รวมฐานชุกชี2.5เมตร จะมีความสูงราว 12.3 เมตรคือระดับความสูงใกล้ขื่อเอก หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่กระทบโครงสร้างตามที่อ.รุ่งโรจน์ได้เสนอไว้ในประเด็นแรก
ตรงนี้อาจแบ่งเป็นสองประเด็น #ประเด็นแรก คือแม้ว่าความสูงของพระศรีสรรเพชญตามข้อเสนอของ อ.พิชญาจะประมาณได้ว่ามีความสูงที่เลยระดับขื่อเอก แต่เมื่อลองใช้โฟโตแกรมตรวจทานกับแบบสำรวจของอ.เสนอจะพบว่าส่วนที่เลยขื่อเอกขึ้นไปนั้นอยู่เพียงระดับพระเกศขึ้นไป และกรณีที่พระพุทธรูปขนาดใหญ่มีความสูงเลยระดับขื่อเอกนั้นแทบจะเป็นกรณีปกติที่พบได้ทั้งกรณีพระมงคลบพิตร และพระประธานวัดพนัญเชิง(กรณีพระประธานวัดพนัญเชิงยังมีการตัดขื่อเอกออกไม่ให้ชนองค์พระด้วย) หรือหากจะหากรณีพระยืนโบราณที่พอเทียบเคียงได้อีกกรณีคือพระเตมกทองในวิหารวัดพระธาตุนครศรีธรรมราชที่ประดิษฐานความสูงเลยขื่อเอกจรดเพดานเช่นเดียวกับที่ตาชาร์ดอธิบายว่ายอดพระเศียรพระศรีสรรเพชญจรดหลังคาพระอุโบสถ และต้องกล่าวว่าเราไม่สามารถใช้รูปด้านมาชี้วัดได้ว่าโครงสร้างขื่อจะบังพระพักตร์เพราะการมองพื้นที่ภายในวิหารผ่านประสบการณ์ของคนจะอยู่ในระดับสายตาซึ่งเป็นมุมเงยเสมอ ในจุดนี้คิดอย่างยังได้ทดลองขึ้นโมเดลสามมิติและพบว่าโครงสร้างขื่อก็ไม่ได้บังมุมมองพระศรีสรรเพชญ กลับกันพระพุทธรูปสามองค์ที่ตั้งอยู่หน้าพระศรีสรรเพชญดูจะบังสายตาที่จะมองไปยังพระศรีสรรเพชญได้เต็มองค์เสียมากกว่า
พระเตมกทอง cr. วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร สู่มรดกโลก
ซึ่งแม้จะแอดมินจะยกประเด็นเรื่องมิติทางสายตามามองแต่แอดมินกลับมองว่าการเห็นหรือไม่เห็นพระพุทธรูปในมุมมองของคนในสมัยจารีตนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญดังเราจะเห็นจากกรณีการสร้างกู่พระเจ้าหรือวิหารพระอัฏฐารส และคันธกุฎีที่มีลักษณะแคบและมืดจนยากแก่การมองเห็น นั่นก็เพราะไอเดียเรื่องการมองพระพุทธรูปในอดีตไม่ใช่การมองในฐานะประติมากรรมจัดแสดงในแบบปัจจุบัน
กราฟฟิคที่อ.รุ่งโรจน์นำเสนอในบทความนั้น แอดมินเข้าใจว่าอาจด้วยข้อจำกัดของโปรแกรมสร้างกราฟฟิคแต่พอแอดมินได้ตรวจเช็คโดยอ้างอิงระยะความสูงเสาในภาพก็พบว่าสัดส่วนความสูงที่ระบุไว้มี่ความคลาดเคลื่อนผิดไปมากซึ่งตรงนี้แอดมินคงไม่ขอออกความเห็นเพราะคิดว่าเป็นความผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจมากกว่า กระนั้นความถูกต้องของระยะและสัดส่วนก็ถือว่ามึความสำคัญมากในการนำเสนอสถาปัตยกรรมยิ่งในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีโฟโตแกรมที่เข้าถึงง่าย
ภาพจากบทความ “ยืนยัน “เศียรใหญ่” คือ “พระศรีสรรเพชญ” ” โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล จะสังเกตได้ว่ามีการยกฐานชุกชีสูงกว่าสัดส่วนที่ระบุไว้ 2.5 เมตร
สุดท้ายนี้แอดมินก็ลองทำสันนิษฐานโดยอ้างอิงโมเดลสแกนโฟโตแกรม และงานสำรวจศึกษาที่ผ่านมาของหลายๆท่านประกอบกับบันทึกชาวต่างชาติที่กล่าวถึงการประดับตกแต่งด้วยทอง โคม ชวาลา ฯลฯ เสียดายที่แอดมินลืมใส่ต้นไม้เงินทองจากบันทึกเดอชัวซีไปด้วยถ้ามีโอกาสจะใส่เพิ่มเข้าไป
*note* อาจต้องเสริมว่า เสาภายในวิหารที่มีการสำรวจไว้ในช่วง 2531 ต่อมาได้พังลงมา ทำให้นักวิชาการในเวลาต่อมาต่างยอมรับและใช้งานสำรวจของ อ.เสนอ เป็นงานวิจัยหลักในการใช้อ้างอิงเพื่อสันนิษฐานวิหารเพราะอาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อมูลเดียวที่เหลืออยู่ถึงความสูงวิหารเดิม
อ้างอิง
แบบสำรวจ วัดพระศรีสรรเพชญ์ : เสนอ นิลเดช
อ้างอิง
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทอง ตอนกรุงแตก, กรุงเทพฯ : มติชน, 2560
.
พิชญา สุ่มจินดา. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง : รัฐประหาร ความชอบธรรม พิธีกรรม ศิลปะ , กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ, 2563
.
รุ่งโรจน์ภิรมย์อนุกูล. ยืนยัน “เศียรใหญ่” คือ “พระศรีสรรเพชญ”, ศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
.
วัดพระศรีสรรเพชญ์ : เสนอ นิลเดช
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, กรมศิลปากร
.
“อฏฺฐารส” คติความเชื่อ และการสร้างสรรค์งานพุทธปฏิมา Attharassa : Beliefs and Buddhist Statues
https://so04.tci-thaijo.org/inde…/NAJUA/article/view/16708
.
ศึกษาวิเคราะห์คติความเชื่อเรื่องพระอัฏฐารสที่มีอิทธิพลต่องานพุทธศิลป์ – นายบุณยกร วชิระเธียรชัย