หอฉันวัดท่าตะเคียนเมืองพิษณุโลก ศาลาโครงสร้างเครื่องประดุอันแสนงดงาม
ถูกสร้างขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เดิมอยู่ริมน้ำภายหลังตลิ่มพังจึงย้ายเข้ามาตำแหน่งปัจจุบันโดยเสริมใต้ถุนให้สูงขึ้น โครงสร้างหลังคาทั้งจั่ว และชายคารอบของหอฉันนั้นใช้ระบบเครื่องประดุทั้งหมด จากโครงหลังคาหลักที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นความเข้าใจ และชำนาญในระบบเครื่องประดุที่ยังสืบทอดต่อมาในห้วงเวลาที่พื้นทีี่ส่วนอื่น ๆ ของสยามเปลี่ยนไปใช้โครงสร้างหลังคาระบบจันทันแล้ว ศาลาการเปรียญวัดจันทร์ตะวันออกซึ่งจะถูกสร้างในทศวรรษที่ 2440 ใช้โครงสร้างเครื่องประดุกับหลังคาหลัก และใช้โครงสร้างจันทันกับชายคารอบ ให้หลังจากนั้นดูเหมือนว่าเราไม่เจอการใช้โครงสร้างเครื่องประดุในงานนวกรรมอีก
ระบบเครื่องประดุ หรือที่เรียกในชื่ออื่น ๆ ว่าระบบม้าตั่งไหม (ที่จริงแล้วรายละเอียดต่างไปจากเครื่องประดุเล็กน้อย) ระบบขื่อเอกขื่อโท ระบบแปจัตุรัส ฯ จากร่องรอยที่เหลืออยู่ในโบราณสถานในวัฒนธรรมสุโขทัย อยุธยา เรารู้ว่าโครงสร้างเช่นนี้ถูกใช้ในงานนวกรรมเป็นปกติ อาคารจากสมัยอยุธยาที่หลงเหลือมาหลายสิบหลังยังรักษาระบบเครื่องประดุนี้เป็นกรณีศึกษา
โดยกระบวนการแบบนี้สมัยก่อนเวลาลงภาคสนาม ถ้าเจออาคารที่ไม่รู้จักมาก่อนใช้โครงสร้างเครื่องประดุ อาคารนั้นจะดึงดูดใจเป็นพิเศษ อย่างน้อยเรามองว่าอาคารนั้นอาจเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาก็ได้ แต่จากกรณีศึกษาที่มากขึ้นเราพบว่าระบบโครงสร้างทั้งจันทันและเครื่องประดุไม่ใช่ตัวชี้วัดยุคสมัยที่ดีนัก (นี่ไม่พูดถึงงานยุคหลังพุทธกาลที่รื้อฟื้นมรดกงานช่างเก่า ๆ มาเป็นแรงบรรดาลใจในการออกแบบ)
ระบบจันทันเริ่มพบใช้ในอยุธยาตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ที่จริงอาจเริ่มใช้ก่อนหน้านั้นเกือบครั้งศตวรรษ เราพบร่องรอยของแปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตะแคงซึ่งเป็นหลักฐานของระบบจันทันที่บ้านวิชาเยนทร์ลพบุรี วิหารทรงตำหนักบางหลังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เหลือมาจากสมัยอยุธยาก็มีการใช้ระบบจันทัน
ขณะที่ในบางพื้นที่เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ ระบบเครื่องประดุยังถูกใช้ในงานนวกรรมอยู่บ้าง เช่นกรณีของวัดในเขตตอนเหนือของเมืองพิษณุโลก ได้แก่หอฉันของวัดท่าตะเคียน โบสถ์เก่าของวัดแสงดาว และโบสถ์เก่าของวัดจอมทอง ยังรักษาระบบเครื่องประดุสมบูรณ์เอาไว้ได้ทั้งที่สร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 25
ในเมืองนครศรีธรรมราช โบสถ์ที่สร้างโดยเจ้าพระยานครในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ที่ยังเหลืออยู่ ๒ หลัง ใช้ระบบเครื่องประดุกับหลังคาประธาน ขณะที่ในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 พระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาลจะยกเครื่องบนของวิหารธรรมศาลาขึ้นด้วยระบบเครื่องประดุเช่นกันหลังจากที่วิหารธรรมศาลากลายเป็นวิหารร้างไม่มีหลังคาอยู่ ๒ ทศวรรษ หลังจากนั้นระบบเครื่องประดุก็ดูเหมือนจะเลิกใช้ไปคงใช้ระบบจันทัน เว้นแต่กรณีที่เป็นงานบูรณะปฎิสังขรณ์โครงหลังคาเดิมที่ยังพอคงสภาพ
หอฉันวัดท่าตะเคียนนี้ คิดอย่างบังเอิญผ่านไปเจอตอนกำลังรื้อหลังคาในปลายปี 2557 และกลับไปอีกครั้งในต้นปี 2558 ตอนยังเป็นหนุ่มน้อยมาก ๆ น่าเสียดายเหมือนกันที่การซ่อมได้ลดทอนคุณค่าของสภาพภายนอกอาคารไปมาก แต่ยังดีมากที่สามารถเก็บตัวไม้หลักของโครงเครื่องประดุไว้ได้ทั้งหมด วันนึงอาจสามารถคืนสภาพที่เคยงดงามกลับมาโดดเด่นได้โดยไม่ยากนัก ไม่ได้กลับไปเยี่ยมนานมากแล้วไม่รู้ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างครับ