วัดจำปา ตำบลทุ่ง เมืองไชยา : กับสารพัดเรื่องราวที่สืบทอดผ่านกาลเวลา
“เมียของเอ็งพอจะเข้าวัดจำปาได้ไหม”
ผู้เฒ่าถามถึงหญิงสาวที่ชายหนุ่มจะตกแต่งเป็นภรรยา ไม่ได้หมายความว่าหน้าตาต้องสะสวยวิเศษ แต่กิริยามารยาทเมื่อเข้าสังคมก็ต้องงาม และโดยเฉพาะวัดจำปาที่เมื่อมีงานบุญก็เป็นที่ประชุมชนมาก หญิงสาวนั้นจะวางตัวได้เหมาะสมในสถานการณ์เช่นนั้นหรือไม่
นี่เป็นเรื่องเล่าเก่า ๆ ที่ทุกวันนี้ยังมีพูดถึงกันในพื้นที่ตำบลทุ่ง อำเมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นที่ตั้งของวัดจำปา ตำบลทุ่งหมายความตามชื่อว่าเป็นทุ่ง คือเป็นทุ่งใหญ่ทุ่งย่อมทำนาเลี้ยงเมืองไชยามาแต่โบราณ ชาวตำบลทุ่งแต่ดั้งแต่เดิมนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินยิ่งกว่าชุมชนอื่น ๆ ในละแวก เพราะต่างมีนาบ้านละไม่น้อย ข้าวปลาอาหารไม่เคยขาด วัดจำปาที่ตั้งมั่นผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน มีประจักษ์พยานคงเหลือเป็นวิหารอยุธยาตอนปลายหลังใหญ่พร้อมหน้าบันแกะสลักฝีมือเยี่ยม มีจารึกระบุถึงขอบเขตที่กัลปนาของวัดก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาเพียงไม่กี่ปี ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญของชาวตำบลทุ่งผู้มีฐานะ งานบุญใด ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดนี้จึงไม่ใช่งานธรรมดา ถ้าใครมาทำขายหน้าในวัดคนคงเอาไปพูดกันปากต่อปากไม่จบสิ้น
หลายปีก่อนคิดอย่างทำงานภาคสนามในเขตอำเภอไชยา ได้ รับฟังความทรงจำถึงวัดจำปาที่ยังตกค้างอยู่จาง ๆ จากคำบอกเล่าของมิตรสหายชาวตำบลทุ่งมาบ้าง เมื่ออาทิตย์ก่อนแอดมินฝ่ายศิลปะและการเมือง นึกสนุกอยากจะเอาประเด็นวัดจำปามาพัฒนาเป็นคอนเทนต์ ต่อไปในโพสต์นี้จะชวนชาวคิดอย่างไปรู้จักวัดจำปาในหลาย ๆ แง่มุมจากข้อมูลที่ได้เก็บเล็กผสมน้อยเอาไว้ครับ
เรื่องของวัด และระบบที่กัลปนา
วัดจำปาตั้งอยู่บนสันดอนเล็ก ๆ ในพื้นที่ตำบลทุ่งเมืองไชยา สันฐานของพื้นที่นั้นโดยมากเป็นที่ลุ่มอันเรียกว่าทุ่ง มีทุ่งสำคัญคือทุ่งนารายอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทุ่งวัดนอกอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทุ่งเป็นที่ทำนาเพาะปลูก แต่ครั้นพอหน้าน้ำ น้ำจากคลองตะเคียนก็จะเจิ่งนองเข้าเต็มทุ่ง บ้านเรือนของชาวตำบลทุ่งกระจายตัวอยู่บนสันดอนเล็ก ๆ ที่สูงพ้นระดับน้ำหลาก วัดวาอารามนั้นจะเลือกตั้งบนสันดอนที่ใหญ่กว่า หรือมีการถมขยายขนาดสันดอนให้เพียงพอสำหรับกิจกรรมนานาในรอบปี ชื่อของวัดจำปามีที่มาจากอะไร และจริง ๆ แล้ววัดตั้งขึ้นเมื่อไหร่แน่นั้นยังไม่แน่ชัด มีการเสนอกันว่าชื่อวัดจำปาอาจมาจากชาวจามปา และวัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย
อย่างไรก็ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏหลงเหลืออยู่นั้นบ่งชี้ว่าวัดนี้รุ่งเรืองมากในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 23 เป็นต้นมา (พ.ศ.2250 – ปัจจุบัน) ร่องรอยที่ปรากฏตกค้างอยู่ตามวัดร้าง ๆ รอบ ๆ วัดจำปา อาทิกลุ่มพระพุทธรูปบนฐานชุกชีที่วัดสากเหล็ก ร่องรอยทางโบราณคดีที่พบที่วัดนางชี วัดมาน วัดแปบ นั้นบ่งชี้ความเจริญรุ่งเรืองของพื้นที่อย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เช่นกัน อย่างไรก็ตามรายงานการค้นพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนไม่น้อยที่เก่าย้อนไปถึงพุทธศตวรรษที่ 16 – 19 หรือบรรดาเทวรูปขนาดเล็กสมัยศรีวิชัยซึ่งอยู่ในความครอบครองของเอกชนโดยไม่เปิดเผยพบในพื้นที่ละแวกตำบลทุ่ง และใกล้กับตัวเมืองไชยา ก็อาจเป็นหลักฐานที่ใช้อธิบายการตั้งถิ่นฐานและกิจกรรมในพื้นที่ตำบลทุ่งย้อนไปได้นับพันปี ทว่าเป็นการยากที่จะลำดับการสืบเนื่องของกิจกรรมผ่านหลักฐานที่ค่อนข้างกระจัดกระจายนี้
แม้ย้อนไปในปี พ.ศ. 2488 เมื่อพระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล เจ้าอาวาส ณ ขณะนั้นจัดทำข้อมูลประวัติวัดจำปา ท่านทำได้เพียงอธิบายว่าวัดนี้เป็นวัดเก่า มีประวัติย้อนไปได้ประมาณ 200 ปี (ณ ขณะที่เขียน) อีกทั้งที่มาของชื่อวัดนั้นก็ไม่อาจระบุได้ชัดเจน งานศิลปกรรมซึ่งตกทอดมาในวัดเป็นเครื่องกำหนดอายุอย่างคร่าว ๆ และถูกใช้กันแพร่หลาย งานศิลปกรรมเหล่านี้ได้แก่ 1.วิหารไม้ทรงโรงสมัยอยุธยามีหน้าบัน และบานประตูแกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง 2.ชิ้นส่วนของบานประตูโบสถ์เก่า (ซึ่งชำรุดรื้อถอนไปแล้วและถูกสร้างใหม่แทนที่โดยการออกแบบของกำนันล้ำ ศักดิ์ดา ช่างท้องถิ่นผู้มากฝีมือ) 3.ซุ้มประตูหน้าราหูของวัด งานศิลปกรรมเหล่านี้ล้วนกำหนดอายุอยู่ในราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 23 แม้วัดจำปาจะดำรงมาก่อนหน้า แต่กิจกรรมการทำนุบำรุงวัดที่ก่อให้เกิดงานศิลปกรรมเหล่านี้คงเปลี่ยนภูมิทัศน์ของวัดไปมากจนเราจิตนาการถึงวัดจำปาในยุคสมัยที่เก่าลงไปกว่านี้ได้ค่อนข้างยาก
จารึกวัดจำปาที่พบบริเวณคูน้ำข้างวัด กล่าวถึงบุญกิริยาของทายก 2 ท่าน ทายิกา 1 ท่าน ในปีพ.ศ.2309 ได้แก่การถวายข้าทาส และที่นากัลปนาแก่วัดจำปา พร้อมระบุกฏเกณฑ์แก่ผู้จะทำประโยชน์ในที่นาแปลงนี้ว่าจะต้องจัดสำรับ 11 ชั้นมาถวายแก่วัดจำปาทุก ๆ ปีตามวันเวลาที่คงมีการตกลงกันไว้
ขอบเขตของนากัลปนาที่ระบุไว้ในจารึกนั้นตามสำรวจได้ยาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และระบบนากัลปนาของวัดนั้นได้สูญสภาพไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากที่กัลปนานั้นแต่โบราณไม่ได้ถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ซึ่งเอกชนจะครอบครองไม่ได้ แต่เป็นที่ซึ่งกำหนดเพียงว่าให้ผลประโยชน์ของการทำกินในที่นั้นต้องตกแก่วัด ในราวรัชกาลที่ 5-6 เมื่อมีการจัดระบบเงินบำรุงวัดโดยกระทรวงธรรมการ และเพิกถอนสิทธิพระกัลปนาเดิมซึ่งถูกมองว่าซ้ำซ้อนและไม่เป็นระบบระเบียบ นากัลปนาส่วนใหญ่จึงตกแก่ผู้ทำประโยชน์ในนาเหล่านั้น ณ ขณะนั้น จากความทรงจำของพระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล วัดจำปาเคยมีนาเรียกว่า
- นาสำรับ ที่ผู้เข้าไปทำประโยชน์ต้องจัดสำรับส่งวัดจริง เป็นไปได้ว่าอาจคือที่นาเดียวกับที่ปรากฏในจารึกเมื่อปี พ.ศ.2309 นี้เอง อีกทั้งยังมีนาดาด นาถ้วย และนาขุดทราย
ลักษณะของที่นากัลปนาเมืองไชยามีการจัดสรรผลประโยชน์จากการเข้าใช้ที่นากัลปนาของวัดเพิ่มเติมไปจากผลิตผลเช่นข้าว หรือเงินบำรุงวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ มีการระบุหน้าที่ที่ผู้เข้าใช้ที่กัลปนาจะต้องกระทำต่อวัดด้วยตามแปลงนานั้น ๆ
- นาดาด คือนากระดาษ ผู้ทำนาในแปลงนี้จะต้องจัดหากระดาษส่งมาให้วัด ซึ่งจะได้ใช้งานประดับตกแต่งชั่วคราวเช่นตกแต่งเรือพระ
- นาถ้วย จะต้องจัดหาถ้วยชามส่งให้วัด
- นาขุดทราย เดิมในพื้นที่นาเป็นสันดอนทราย ผู้เข้าใช้จะต้องขุดทรายเข้าวัดทุก ๆ ปี
วัดพระบรมธาตุไชยา มีนากัลปนาแปลงหนึ่งเรียกว่า
- นาพด พดคือเปลือกมะพร้าว ผู้ที่ทำนาแปลงนี้ทุกปีต้องเตรียมใยจากเปลือกมะพร้าวมาขวั้นเป็นเชือก เรียกเชือกพด สำหรับฉุดชักเรือพระออกแห่แหน เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำเชือกจากพดอีกแล้ว แต่พื้นที่ที่เรียกว่า ดอนพด ยังมีอยู่
ที่วัดหัววังน้ำรอบ อำเภอพุนพิน ปรากฏจารึกเรื่องนากัลปนา 2 แปลง ได้แก่ นาประชุมดอกไม้ ผู้ทำนาต้องจัดหาดอกไม้เตรียมเอาไว้สำหรับประดับเรือพระในช่วงลากพระ และ นาข้าวเปียก ผู้ทำนาต้องเตรียมกาวแป้งเปียกสำหรับใช้ติดกระดาษประดับเรือพระ นากัลปนาทั้งหมดนี้ หากซักไซ้คนอาวุโสหน่อย ยังพอได้ความกระท่อนกระแท่นมาประติดประต่อกัน แต่การตามสำรวจขอบเขตเพื่อทำผังเป็นองค์ความรู้นั้นอาจต้องใช้ความอุตสาหะอีกมาก
รุ่งเรืองในยุคการปกครองของเจ้าเมืองสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์ แห่งสงขลา
หลังเมืองสงขลาที่หัวเขาแดงถูกอยุธยาพิชิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ชาวสงขลาจากนครที่ถูกพิชิตนำโดยผู้นำในสายสกุลสุลต่านสุลัยมาน ชาห์บางส่วนถูกเทครัวให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทุ่งโฉลก ปัจจุบันอยู่ในอำเภอท่าฉาง ครั้งพอตำแหน่งเจ้าเมืองไชยาว่างลง ผู้นำของชาวสงขลาพลัดถิ่นขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองไชยา ย้ายชุมชนจากทุ่งโฉลกมาตั้งชุมชนใหม่ยังพื้นที่ที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านสงขลา อยู่ระหว่างเมืองไชยาที่บ้านเวียง กับพื้นที่ตำบลทุ่ง นับแต่นั้นมาจนเสียกรุงศรีอยุธยา เมืองไชยาจะถูกปกครองโดยเจ้าเมืองมุสลิมสืบต่อกัน 3 ท่าน ภายใต้ยุคสมัยของเจ้าเมืองมุสลิมนี้คือยุคที่บรรดางานศิลปกรรมอันงดงามของวัดจำปา วัดซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางการปกครองของเจ้าเมืองมุสลิมเพียงกิโลเมตรเศษได้ถูกบรรจงสร้างขึ้น
เราไม่มีหลักฐานว่าชาวพุทธที่อยู่มาก่อน และชาวมุสลิมจากสงขลาซึ่งเข้ามาใหม่ในฐานะผู้ปกครองนั้นมีปฎิสัมพันธ์กันอย่างไรในช่วงเริ่มต้น ตำนานเมืองไชยาระบุว่าการที่เจ้าเมืองเลือกตั้งชุมชนใหม่ขึ้นที่บ้านสงขลาก็เพื่อเลี่ยงพื้นที่บ้านเวียงที่เป็นชุมชนชาวพุทธดั้งเดิม เราอาจมองว่านี่เป็นความพยายามประนีประนอม เพราะศูนย์กลางของบ้านเวียงคือวัดเวียง และในละแวกนั้นล้วนเป็นกลุ่มวัดที่ตั้งทับซ้อนกับพุทธสถานสมัยศรีวิชัย
ในทางปกครอง เจ้าเมืองมุสลิมคงสามารถสมานฉันกับกลุ่มขุนนางท้องถิ่นชาวพุทธเดิมได้เพราะการตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการของชุมชนต่าง ๆ ในเมืองไชยาดูจะไม่ได้หยุดชะงักลง แต่ก็อาจมีการแต่งตั้งขุนนางจากชาวมุสลิมให้ดูแลในภาพรวมด้วย เราพบร่องรอยของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนพุทธดั้งเดิม กับชาวมุสลิมสงขลาพลัดถิ่นตกค้างอยู่ผ่านตำนานการสร้างพระบรมธาตุไชยา ซึ่งระบุว่าผู้สร้างคือปะหมอและปะหมัน ที่ริมทางรถไฟทางเหนือของตลาดไชยามีสันดอนเล็ก ๆ เรียกกันว่าดอนพัดหมัน เชื่อกันว่าเป็นสุสานของปะหมันผู้สร้างพระบรมธาตุไชยา พื้นที่นี้เป็นสันดอนศักดิ์สิทธิ์ที่มีการบวงสรวงทุกปี แต่รู้กันทั่วไปว่าหมูเป็นของต้องห้าม และเจ้าที่ประจำดอนนี้เป็น “แขก”
จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม เราพบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นประเภทเจ้าที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าที่ “แขก” กระจายอยู่หลายแห่งในละแวกเมืองไชยา “แม่ยายบ้านโพธิ์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสถิตอยู่ในรูปของปราสาทจำลองสลักด้วยหินทรายแดงตั้งอยู่ทางตะวันตกของวัดพระบรมธาตุไชยานั้น เป็นเจ้าที่แขกที่สถิตย์อยู่ในวัตถุที่รูปลักษณะดูเหมือนเป็นวัตถุในศาสนาพุทธ รู้กันทั่วไปว่าพื้นที่โดยรอบแม่ยายบ้านโพธิ์นั้นไม่อาจเลี้ยงหมูได้ หมูจะล้มตาย และการเซ่นสรวงแม่ยายบ้านโพธิ์ทุก ๆ ครั้งนั้น หมูเป็นของต้องห้าม
นี่อาจเป็นร่องรอยที่ตกค้างมาจากการอยู่ร่วมกันของสองวัฒนธรรม เจ้าที่แขกเหล่านี้เดิมอาจคือขุนนางมุสลิมสงขลาพลัดถิ่นที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลชุมชนใต้ปกครองซึ่งรวมถึงชาวพุทธดั้งเดิม การยอมรับเอาความเป็นมุสลิมที่เข้ามาใหม่ให้รวมอยู่ในระบบความเชื่อพุทธ-ผี นั้นดูจะสะท้อนความประณีประนอม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งนี้ตำนานเมืองไชยายังให้ข้อมูลกับเราว่าพระยาวิชิตภักดี (บุญชู) เจ้าเมืองไชยาคนแรกสมัยธนบุรี และเป็นชาวพุทธนั้น เป็นบุตรของมหระหุ่มมุดาเจ้าเมืองไชยาคนสุดท้ายสมัยอยุธยากับภรรยาชาวพุทธ การแต่งงานข้ามขนบธรรมเนียมความเชื่อนั้นคงเกิดขึ้นเป็นปรกติมาตั้งแต่แรก ซ้ำการที่พระยาวิชิตภักดี (บุญชู) ไม่ได้เปลี่ยนเป็นมุสลิมตามบิดาตั้งแต่แรกเกิด อาจสะท้อนความเป็นอยู่อย่างผ่อนปรนต่อหลักศาสนาบางประการที่เกิดขึ้นในเมืองไชยาสมัยอยุธยาตอนปลาย
วัดจำปา ได้รับการทำนุบำรุงอย่างดีในห้วงเวลานี้ ประกอบกับจารึกวัดจำปาในปี พ.ศ.2309 ระบุถึงมหาจันทง เจ้าปุญจน และอำแดงเพชรทอง ในท่วงทำนองของคหบดีผู้มีศรัทธาบริจาคข้าทาสและที่นา ดูเหมือนว่าในหมู่ชุมชนชาวพุทธเมืองไชยานั้นยังคงมีผู้ฐานะดี และชาวพุทธมีกำลังในการทำนุบำรุงวัดในฐานะศูนย์กลางชุมชนอย่างเข้มแข็งเป็นปรกติในยุคที่แม้เจ้าเมืองจะเป็นมุสลิมก็ตาม
วิหารหลวง วัดจำปา
วิหารไม้ทรงโรงขนาด 7 ห้องเสา มีมุขประเจิดทั้งสองด้าน ที่เสา สาหร่ายรวงผึ้ง และหน้าบันมุขประดับด้วยงานไม้แกะสลักอย่างเอก กล่าวกันว่าผู้สลักนั้นคือ “เณรช่างเขียน” สามเณรผู้ชื่นชอบการขีดเขียนมาแต่เล็ก ตัววิหารนับเป็นอาคารที่เก่าที่สุดที่ของวัด (เนื่องจากตัวอุโบสถสมัยอยุธยานั้นได้ชำรุดไปก่อน ผู้ที่ไปเยือนวัดจำปาจะเห็นว่าวิหารถูกปรับใช้เป็นอุโบสถอยู่ในปัจจุบัน)
วิหารนี้เรียกกันมาแต่เดิมว่า “วิหารหลวง” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์พรรณนาถึงวิหารหลวงของวัดจำปาที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นในปี พ.ศ.2445 ไว้ดังนี้
“…หลังโบสถ์มีวิหารหลังหนึ่ง ก่อเพิงฐานเหนือขึ้นไปเป็นเสาไม้สี่แถว หลังคาเครื่องประดุมุงกระเบื้องกูบ (คือกระเบื้องกาบกล้วย) มีพาไลสองชั้น มีมุขศาลาลูกขุน (คือมุขประเจิด) ฝาลูกกรงทำด้วยไม้ หมดทั้งหลังทรงงามที่สุดเปนวิหารไม้แท้ ตัวลำยองแปลกไม่เคยเห็น เปนตัวรวยแต่มีขอ… ลายหน้าบรรพ์แขงเต็มที กนกบากทั้งอันแกมภาพ บานประตูหน้าวิหารนั้นแปลก บานขวาเปนยักษ์ยืนแท่นถือกระบอง มีนาค 7 เศียรปกหัวงูอยู่ใต้ขา บานซ้ายเปนพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณถือพระขรรค์สองมือ..” (ทำวงเล็บโดยผู้เขียน)
นี่เป็นบันทึกเก่าที่สุดที่ให้ข้อมูลลักษณะของวิหารหลวงวัดจำปา ซึ่งแต่เดิมมักอธิบายกันว่าเป็นวิหารโถง ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้เป็นโถงซะทีเดียว แต่มีผนังเป็นลูกกรงไม้กั้น เมื่อมีผนังจึงเป็นคำตอบว่าทำไมวิหารจึงมีประตู เพราะหากมีประตูแล้วเป็นวิหารโถง การมีประตูอยู่นั้นก็ค่อนข้างแปลกทีเดียว ลักษณะของวิหารฝาลูกกรงนี้ไม่ค่อยพบในแถบอ่าวบ้านดอน หรือทางนครศรีธรรมราช แต่พบในลุ่มทะเลสาบสงขลาอยู่บ้าง เช่นที่โบสถ์เขาตก วัดชะแล้ หรือบรรดาศาลาทั้งหลายในวัดท้ายยอ จังหวัดสงขลา
โดยลักษณะของฝา (หรือผนัง) ลูกกรงนี้ มักจะแบ่งฝาเป็นสองตอน คือตีนฝา เป็นระยะตั้งแต่พื้นวิหารสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร เป็นระยะพอดีระดับสายตาของผู้ที่นั่งเรียบกับพื้นวิหาร ตีนฝาส่วนนี้มักจะตีทึบ หรือเป็นลูกกรงถี่ ๆ ครั้งสูงขึ้นไปลูกกรงจะโปร่งขึ้น การทำเช่นนี้คงเพื่อให้เกิดขึ้นที่ปิดล้อมที่ความวุ่นวายภายนอกไม่รุกรานเข้ามามากนัก และอาศัยความโปร่งของฝาด้านบนช่วยระบายความอับชื้นตามลักษณะภูมิอากาศของภาคใต้
พระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล เจ้าอาวาสวัดจำปา ได้บรรยายลักษณะของวิหารหลวงที่ปรากฏในปี พ.ศ.2488 ไว้ว่า
“…เสาของวิหารนี้ทำด้วยไม้ ตอนปลายเสามีแกะลวดลายสลักไว้อย่างวิจิตร์ (เฉพาะเสาที่โผล่ให้เห็นปลายจากพายนอก ด้านละ 2 ต้น ตะวันออก – ตะวันตก) กระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาเป็นกระเบื้องสีแดงทำด้วยดินเหนียว เป็นรูปคล้ายกับรางน้ำ หงายไว้เป็นคู่ ๆ และมีอันหนึ่งเป็นรูปคล้ายกันอีก ตอนปลายเป็นเทพนมและดอกไม้ วางครอบสลับกันลงบนกระเบื้องคู่ที่หงายไว้ ที่หน้าจั่วมีแกะสลักเป็นลวดลายเครือเถาด้วยไม้ ตอนสุดยอดเป็นเทพนม เช่นนี้ทั้งสองจั่ว
วิหารนี้มีกำแพงรอบ ทางเข้าประตูมีราชสีห์ และเสือข้างละตัวเฉพาะที่ด้านหน้า (ทิศตวันออก) ๒มีนนทรีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายยืนถือตะบองอยู่ ระหว่างกลางมีประตู บานประตูก็แกะสลักด้วยไม้อย่างวิจิตรพิสดาร แต่เวลานี้ชำรุดหมด บานประตูทั้งสองกรมศิลปากรได้เอาไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงเทพฯ พร้อมด้วยหน้าราหูซึ่งอยู่ที่ประตูด้านหน้าของวัด ทางทิศตะวันตกของวิหารมีเจดีย์ใหญ่ 1 องค์ สร้างไว้อย่างสวยงามมาก แต่เวลานี้ชำรุดหักพังหมดแล้ว…”
เอกสารชิ้นนี้ให้รายละเอียดต่อมาจากจดหมายเหตุของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์สองสามประการคือ กล่าวถึงรูปราชสีห์ และเสือที่บันไดทางขึ้นวิหาร และกล่าวถึงยักษ์ปูนปั้นขนาบข้างประตูวิหารว่า “นนทรี” คำเรียกนี้ยังตกค้างอยู่ในความทรงจำของชาววัดปัจจุบัน
นนทรีเป็นยักษ์เฝ้าประตู อาจมีที่มาจากนนทกก็ได้ การสร้างรูปยักษ์เฝ้าทางเข้า และเรียกว่านนทรีนั้นเป็นขนบอยุธยาที่ตกค้างอยู่ในวรรณกรรมเก่าหลายชิ้น ยักษ์ที่เรียกกันว่าท้าวทศรถราช ท้าวทศรถเทพราช เฝ้าบันไดทางขึ้นลานประทักษิณองค์พระบรมธาตุเมืองนครนั้นก็เคยถูกเรียกอย่างลำลองว่านนทรี และนนทยักษ์
ณ ขณะที่เอกสารชิ้นนี้ถูกเขียนนั้นปรากฏว่าบานประตูของวิหารหลวงที่กรมพระยานริศฯ ทรงระบุถึงในปี พ.ศ.2445 ได้ถูกนำไปยังกรุงเทพฯแล้ว ซึ่งจะได้เขียนถึงในลำดับถัดไป เอกสารของพระอธิการเพิ่ม พุทธปาโล ยังให้ข้อมูลน่าสนุกเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์หนึ่งในวิหาร ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าเป็นองค์ใดว่า
“..เล่ากันมาว่าในวิหารหลวงมีพระพุทธรูปที่เป็นโลหะบรรจุปรอท เด็ก ๆ เข้าในวิหารนี้ครั้งละกี่คนก็ตามจะต้องสูญเสีย 1 คนเสมอ ถือกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้กินเสีย ถ้าเป็นคนใหญ่ ๆ ไม่สูญ น่าจะเป็นการหลอกเด็กไม่ให้เข้าเที่ยวเล่นก็เป็นได้ แต่เขายืนยันว่าเคยสูญจริง”
ความเชื่อเรื่องพระพุทธรูปกินเด็กนั้นดูจะเป็นของแพร่หลายไปทั่วทีเดียว กรณีของพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอนนั้นเท่าที่ผู้เขียนทราบ พระพุทธรูปศิลาทรายแดงใหญ่ในเจติยมณฑปวัดพระบรมธาตุไชยา และพระพุทธรูปใหญ่ของวัดมหาถูปาราม ท่าชนะ ซึ่งสร้างโดยทหารผ่านศึกไทรบุรีสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ล้วนเชื่อกันว่ากินเด็กเช่นเดียวกัน
วิหารหลวงวัดจำปานี้ ถูกใช้เป็นกรณีศึกษาของวิหารไม้สมัยอยุธยาที่สำคัญชิ้นหนึ่ง เนื่องจากเป็นวิหารเครื่องไม้ตลอดเสาจนเครื่องบน โครงสร้างหลังคาเป็นระบบเครื่องประดุ มุงกระเบื้องกาบู มีหน้าบันแกะสลักฝีมืออย่างช่างอยุธยาในครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 23 อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจรังวัดของผู้เขียน พบว่าแม้โดยทั่วไปวิหารหลวงนี้อาจกล่าวได้ว่ามีคุณลักษณะสมบูรณ์อย่างที่วิหารอยุธยาตอนปลายแท้ควรจะเป็น ทว่าโครงสร้างหลังคคาของวิหารซึ่งเรียกกันว่าระบบเครื่องประดุนั้น แตกต่างออกไปจากระบบเครื่องประดุที่พบในอาคารสมัยอยุธยาที่หลงเหลือมาทั่วไป กล่าวคือตัวโครงสร้างไม่ได้มีการบากขื่อ และแปเพื่อวางแปโดยให้ระดับหลังแปนั้นเสมอระดับขื่อเอกขื่อโท แต่แปนั้นปากลงมาในขื่อเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในภาพถ่ายเก่าช่วงปี พ.ศ.2490 – 2520 ด้วย ดังนั้นจึงไม่ได้เกิดจากการซ่อมแซมที่ผิดพลาดอย่างน้อยในยุคสมัยอันใกล้ ระบบเครื่องประดุที่แปฝังลงมาในขื่อเอกขื่อโทเพียงเล็กน้อยนี้ยังพบตัวอย่างอีกที่โบสถ์เก่าของวัดถนนสุวรรณประดิษฐ์ อ.กาญจนดิษฐ์ ซึ่งเป็นอุโบสถโครงสร้างเครื่องประดุสมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน กรณีของวัดถนนสุวรรณประดิษฐ์ แปนั้นบากลงมาในขื่อน้อยยิ่งกว่าของวัดจำปา จนดูเหมือนแปนั้นตั้งอยู่เสมอหลังขื่ออยู่โดด ๆ เนื่องจากทั้งวัดจำปา และวัดถนนสุวรรณประดิษฐ์นั้นอยู่ในบริบททางภูมิศาสตร์เดียวกันคือพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอน หากใช้ทะเลเป็นทางสัญจรนั้นนับว่าไม่ไกล และตัดขาดจากกันนัก ประกอบกับจากการศึกษาระบบโครงสร้างเครื่องประดุที่พบในเมืองนครศรีธรรมราช พบว่าระดับของหลังแปนั้นเสมอกับหลังขื่อเอกขื่อโทเป็นปรกติเช่นเดียวกับระบบที่เจอในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดังนั้นระบบแปที่บากลงไปในขื่อเพียงเล็กน้อยนี้อาจเป็นระบบร่วมที่ใช้กันอยู่ในพื้นที่รอบอ่าวบ้านดอนสมัยอยุธยาตอนปลาย มูลเหตุที่เกิดขึ้นยังคาดเดาได้ยาก เป็นไปได้ว่าผู้ที่ทำเครื่องบนของวิหารนั้นไม่ได้ผ่านการทำระบบเครื่องประดุมาก่อน หรือเล็งเห็นว่ากำลังของไม้ที่ใช้ ซึ่งคงใช้ไม้จากป่าในเขตรอบอ่าวบ้านดอน นั้นอาจไม่มีกำลังเพียงพอจะรับน้ำหนักได้เมื่อต้องบากชิ้นส่วนให้หลังแปเสมอกับหลังขื่อ อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน แต่ประเด็นที่จำเป็นต้องชี้ให้เห็นคือ แม้วิหารหลังนี้จะถูกอธิบายว่าเป็นวิหารสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามสมบูรณ์พร้อม แต่ก็มีคุณลักษณะเฉพาะตัวบางประการที่ไม่เหมือนกับที่อื่น
การเดินทางของงานศิลปกรรมสำคัญสามชิ้นของวัดจำปาไปยังกรุงเทพมหานคร
มีงานศิลปกรรมสำคัญของวัดจำปา 3 ชิ้น ได้แก่ 1.บานประตูของวิหารหลวง 2.ชิ้นส่วนยักษ์ทวารบาลจากบานประตูของอุโบสถหลังเก่า 3.ชิ้นส่วนซุ้มประตูหน้าราหูของวัดได้ถูกนำไปเก็บรักษายังส่วนกลาง สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงระบุถึงงานศิลปกรรมเหล่านี้เอาไว้ในปี พ.ศ.2445 ทรงสเก็ตภาพบางส่วนไว้
ต่อมา Suzanne Karpelès เจ้าหน้าที่ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศได้มายังวัดจำปาในปี พ.ศ. 2467 ได้บันทึกสภาพของวัดจำปา และชิ้นส่วนงานไม้แกะสลักเอาไว้ น่าจะเป็นภาพชุดที่เก่าที่สุดของวัดจำปา และงานศิลปกรรมทั้ง 3 ชิ้นขณะยังอยู่ที่วัดที่มีการเผยแพร่กันในปัจจุบัน
ต่อมา วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2473 ขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ (บรรดาศักดิ์ ณ ขณะนั้น) เดิรทางมาตรวจสอบโบราณวัตถุสถานที่วัดจำปา ได้บันทึกถึงศิลปวัตถุของวัดไว้ว่า
“…พบบานประตูคู่ 1 ทำด้วยไม้เคี่ยมหนาคืบกว่า ฝีมืองามดี บานหนึ่งสลักเป็นรุปยักษ์ยืนถือกระบอง ข้างบนมีนาคปรก 5 เศียร อีกบานหนึ่งสลักเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนเหยียบบนช้าง 3 เศียร ข้างบนสลักเป็นลายก้านขด นอกจากนี้ยังได้พบรูปยักษ์สลักอีกรูป 1 ชำรุดเหลือแต่ตัวจะเปนบานประตูหรือสำหรับติดกับอะไรทราบเกล้าไม่ได้ และรูปราหูสลักแผ่น 1 กับไม้สลักด้าน 1 เปนรูปอกเลา อีกด้าน 1 เปนรูปลายประจำยาม บนประตูและเครื่องไม้สลักลายเหล่านี้ทิ้งให้ปลวกขึ้นอยู่ในซอกข้างหลังพระประธานในโบสถ์โถง…”
โดยลักษณาการที่พบดังกล่าวขุนบริบาลบุรีภัณฑ์ได้เอาชิ้นส่วนไม้แกะสลักตามรายการนั้นมาไว้ยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยเจ้าอาวาสในขณะนั้นไม่ขัดข้อง งานศิลปกรรมของวัดจำปาชุดดังกล่าว กรมการเมืองสุราษฎร์ได้ดำเนินการส่งทางรถไฟมาถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2473 ปรากฏรายการในราชกิจจานุเบกษาว่า “บานประตูไม้ลายฉลัก ครั้งสมัยศรีอยุธยา 1 คู่” รูปยักษ์ฉลัก ครั้งสมัยศรีอยุธยา 1 คู่” “แผ่นไม้ฉลักรูปราหูอมจันทร์ ครั้งสมัยศรีอยุธยา 1 ชิ้น” ส่วน “ไม้สลักด้าน 1 เปนรูปอกเลา อีกด้าน 1 เปนรูปลายประจำยาม” ซึ่งเป็นองค์ประกอบของซุ้มประตูหน้าราหูนั้น ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา
งานศิลปกรรมเหล่านี้ได้ถูกนำออกมาจัดแสดงชั่วคราวหลายครั้ง ปัจจุบันบานประตูของวิหารหลวงได้รับการจัดแสดงถาวรที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ส่วนชิ้นส่วนยักษ์ทวารบาล และซุ้มประตูหน้าราหูจัดแสดงชั่วคราวอยู่ในนิทรรศการ “อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี – ศรีรามเทพนคร” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 นี้
น่าเสียดายเหมือนกันที่ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้อาจทำให้ผู้สนใจหลายท่าน รวมทั้งตัวผู้เขียนเองไม่มีโอกาสได้ชมชิ้นส่วนของซุ้มประตูหน้าราหู เนื่องจากนิทรรศการใกล้จะจบลงแล้ว ซุ้มประตูหน้าราหูนี้เป็นลักษณะของซุ้มประตูที่พบมากในพื้นที่เมืองไชยาโบราณ ลักษณะเหมือนเสาชิงช้าที่ใส่แผงหน้าราหูเข้าไป ใช้เป็นทางเข้าหลักของวัด มักอยู่ตรงแทนเดียวกับโบสถ์วิหาร มีตัวอย่างเหลือที่วัดพระประสบ วัดป่าลิไลยก์ ไชยา วัดท่าสะท้อน พุนพิน เป็นอาทิ ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่อยุธยาตอนปลายมาจนถึงราวรัชกาลที่ 7 มีคติเกี่ยวกับซุ้มประตูนี้ 2 ประการคือ 1 คณะหนังตะลุงโนรา เมื่อยกขบวนผ่านหน้าซุ้มประตูเหล่านี้ต้องหยุดบวงสรวง ถวายมือ 2 คือขบวนแห่นาคจะลอดผ่านซุ้มประตูนี้ไม่ได้ ต้องเลี่ยงไปเข้าช่องกำแพงวัด
คติเรื่องซุ้มประตูนี้ไม่แน่ชัด ดั้งเดิมทำเป็นหน้ากาลจับนาค พอเข้ารัตนโกสินทร์เปลี่ยนมาทำราหูอมจันทร์ คงมีรากเดิมมาจากหน้ากาลซุ้มประตูแล้วคลี่คลายมา ท่านพุทธทาสภิกขุตีความซุ้มประตูหน้าราหูนี้ว่า พระจันทร์ที่กำลังถูกกลืนนั้นเป็นเสมือนจิตที่พยายามเอาชนะกิเลส ปัจจุบันซุ้มเก่า ๆ ชำรุดลง การสร้างประตูวัดสมัยใหม่บ้างก็ลืมเลือนคติเก่า ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไชยาโบราณ และศิลปสถาปัตยกรรมประจำอ่าวบ้านดอนไปเสียแล้ว
รอยอดีตที่กระจัดกระจาย
วัดจำปาปัจจุบันอาจไม่ได้รุ่งเรืองดังเก่า สามีภรรยาใดจะชักชวนกันมางานบุญวัดจำปา อาจไม่ต้องคิดหน้าตรลบหลังว่าอาจทำอะไรผิดพลาดจนชาวบ้านนำไปพูดกันปากต่อปากให้อายอีกแล้ว แต่เป็นความโชคดีทีเดียว ที่อดีตอันยาวนานของวัดแห่งนี้ได้ทิ้งร่องรอยเล็ก ๆ แต่ละส่วนละส่วนเอาไว้มากมาย ตั้งแต่งานศิลปกรรมหลายชิ้นซึ่งถูกหน่วยงานของรัฐเห็นคุณค่านำไปรักษาไว้ตั้ง 80 กว่าปีก่อน แม้นำไปแล้วจะเก็บงำเข้าถึงยาก แต่ของเหล่านี้ก็ยังอยู่โดยการพิทักษ์ดูแลอย่างดี วิหารของวัดได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ ทรุดโทรมลงบ้างจากการโจมตีของนกพิราบ จารึกวัดจำปาที่ระบุถึงการกัลปนาที่ดินในปี พ.ศ.2309 และกิจกรรมของชาววัดในปี พ.ศ.2319 แสดงให้เห็นความสืบเนื่องของวัด และผู้คนหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา บันทึกในปี พ.ศ.2445 และ 2488 ให้ข้อมูลของวัดเท่าที่ปรากฏมาเป็นลำดับ
วัดจำปาจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่น่าภูมิใจของชาวไชยา ของชุมชนรอบอ่าวบ้านดอน ของใครซักคนที่เห็นความเชื่อมโยงของหลักฐานมากมายผ่านกาลเวลา การได้รีเสิร์ชเกี่ยววัดจำปาจึงเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาในภาคสนามที่สนุกที่สุดอันหนึ่งของคิดอย่าง ส่วนท้ายนี้อยากฝากไว้เป็นแรงบันดาลใจถึงใครก็ตามที่อ่านมาถึงจุดนี้ ยังมีชีวิตและเรื่องราวของผู้คนอีกมากอยู่ในโลกกว้างข้างนอก หลังยุคโควิดยังมีอะไรให้เราเรียนรู้ และค้นหากันอีกเยอะครับ
ขอกราบขอบพระคุณ
– พระครูสุตธรรมชัย (พิเชษฐ์ ป.ธ.3). เจ้าคณะตำบลทุ่ง. เจ้าอาวาสวัดจำปา
ขอขอบคุณในความอนุเคราะห์จาก
– มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ
– นายสุรศักดิ์ ลอยใหม่ คุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนราชวินิต มัธยม ชาวตำบลทุ่ง ธิดาพระเจ้ากรุงศรีวิชัย ฯลฯ
– นายมัชฌิมา จำปา ปลัดอำเภอตาพระยา ชาวไชยาแท้ ๆ ผู้ช่วยเก็บข้อมูลภาคสนาม
ข้อมูลอ้างอิง
– BIA 1.2/4 กล่อง 1 จัดทำประวัติวัด ประวัติผู้มีสมณศักดิ์ และขนบธรรมเนียมใน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี [พ.ศ.2487-2502]
– ศธ.0701.1.1/83 การตรวจโบราณวัตถุสถานในอำเภอเมืองไชยา จ.ว.สุราษฎร์ธานี และพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำเดือนกันยายน พ.ศ.2473
– จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.121 พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
– ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความราชบัณฑิตยสภา เรื่อง มีผู้ให้ของแก่พิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร (๒๔๗๓, ๒๓ พฤศจิกายน) เล่มที่ ๔๗ ตอนที่ ๐ง.
– สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 4 : จำปา, วัด (หน้า 1568-1572)
– ตำนานเมืองไชยา – https://www.facebook.com/groups/menamluang/permalink/973253086183101
– วิทยานิพนธ์ พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนางสาวเพลงเมธา ขาวหนูนา
http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/handle/123456789/617
– วิทยานิพนธ์ การศึกษาการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยแบบมีมุขประเจิด โดยชลอ กาเรียนทอง
http://202.28.75.7/xmlui/handle/123456789/2745
ข้อมูลบางส่วนได้ปรับปรุงจากโพสต์เก่าในกลุ่มศิลปะสถาปัตยกรรมลุ่มแม่น้ำหลวง
– ศิลปกรรมชิ้นสำคัญของวัดจำปา 3 ชิ้นที่กระจัดกระจายไปจากวัด
https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/665239446984468/
– วิหารวัดจำปา – เรื่องฝาลูกกรงของวิหารวัดจำปา
https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/758466580995087/
– ธรรมาสน์จำลอง / ป้ายหลุมศพ / และยุคสมัยแขกปกครองพุทธในไชยา
https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/1175663565942051/
– รูปทวารบาลจากประตูโบสถ์วัดจำปา ต.ทุ่ง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/1905220172986383/
– ภาพถ่ายเก่าของวัดจำปา สำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/1180785152096559/
– ภาพถ่ายเก่าวิหารไม้วัดจำปา ไม่ทราบปีที่ถ่าย
https://www.facebook.com/groups/menamluang/posts/758470637661348/